posttoday

สัปดาห์หน้ารู้ผล! อย.เตรียมเผยผลตรวจเชื้อโรค-สิ่งปนเปื้อน"ปลาร้าพระบิดา"

15 พฤษภาคม 2565

อย.เผยอยู่ระหว่างให้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบ สิ่งปนเปื้อน-เชื้อโรค ในปลาร้า "พระบิดา" คาดสัปดาห์หน้ารู้ผล เตือนผู้บริโภคอย่าบริโภคเพราะเสี่ยงได้รับอันตรายจากอาหารที่ผลิตในสถานที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิเข้าตรวจค้นอาศรมพระบิดา ที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ พบมีการผลิตและแบ่งบรรจุผลิตภัณฑ์ขนมและอาหารแห้งจำนวนมากนั้น

เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบไม่มีการขออนุญาตสถานที่ผลิตให้ถูกต้อง สถานที่ผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งยังมีการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาร้าบอง ลักษณะบรรจุใส่ตลับสีแดงอีกด้วย เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจหาสิ่งปนเปื้อน หรือเชื้อโรคต่าง ๆ คาดว่าจะทราบผลการตรวจสอบภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ สถานที่ผลิตปลาร้าบองต้องได้รับอนุญาตจาก อย. และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ปลาร้าบอง ต้องขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องมีการแสดงฉลากตามที่กฎหมายกำหนด โดยแสดงรายละเอียด เช่น ชื่ออาหาร ส่วนประกอบสำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนัก เลขสารบบอาหารภายใต้เครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ น้ำหนักสุทธิ วันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน ข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร และข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบที่อาศรม ยังพบอาหารแห้งที่แบ่งบรรจุใส่ถุงพลาสติกจำนวนมากแขวนและวางเรียงรายในพื้นที่โดยไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ปลาหวาน ปลาหมึกแห้ง ปลากรอบ ถั่วลิสงทอดถั่วลันเตาทอด ข้าวเกรียบ เป็นต้น จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ที่แบ่งบรรจุเหล่านี้มารับประทาน เพราะอาจมาจากสถานที่แห่งนี้ที่มีการแบ่งบรรจุอาหารอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ

ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิได้ตรวจสอบการจำหน่ายอาหารในร้านค้าชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุ และร้านค้าในพื้นที่อำเภอเมืองชัยภูมิ รวม 13 แห่ง ไม่พบว่ามีการจำหน่ายอาหารจากลัทธิดังกล่าว และมีหนังสือแจ้งไปยังสาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งในจังหวัด ให้ตรวจสอบร้านค้าหรือร้านชำในหมู่บ้านว่ามีการจำหน่ายอาหารจากลัทธิดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งมีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดโดยเร็ว

ฝากถึงผู้บริโภคในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารขอให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลาก และมีเลข อย. โดยผู้บริโภคสามารถตรวจสอบว่าเป็นเลข อย. ที่ถูกต้องหรือไม่ได้ทาง เว็ปไซต์ของ อย. www.fda.moph.go.th  หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หรือผ่าน Line@FDA Thai Facebook: FDAThai