posttoday

น่าตกใจ!!"วัยทำงานตอนต้น-วัยเกษียณ"เสี่ยงฆ่าตัวตายสูง

02 พฤษภาคม 2565

โดย....กิ่งอ้อ เล่าฮง

**********************

“กาย” วัย 29 ปีอาชีพไรเดอร์ เข้ามาหาแม่ในช่วงบ่ายกลางเดือน เม.ย. บ่นให้ฟังถึงปัญหาครอบครัว รายรับไม่พอราย จ่าย ขณะที่ภรรยาก็เพิ่งคลอดลูกจึงต้องหยุดการทำงาน และมักจะมีปากเสียงกันในเรื่องความหึงหวงและการเงิน เขาบอกกับแม่ว่า เบื่อกับปัญหาที่เกิดขึ้นและเชื่อว่าจะยุติปัญหาทั้งหมดได้ด้วยตนเอง ก่อนจะกลับออกไปทำงาน แม่เล่าว่า เขายังปกติ และยังบอกว่า ”รักแม่” เหมือนเช่นเคย

เวลาห้าโมงเย็นวันนั้น แม่กำลังจะเลิกงาน มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ปลายสายถามชื่อ-นามสกุลว่า เป็นมารดาของ”กาย” ใช่หรือไม่ และขอให้รีบเดินทางมาที่สะพานพระราม 4 เพราะลูกชายกำลังจะกระโดดน้ำตาย แม่เล่าว่า วินาทีนั้นเธอถึงกับเข่าทรุด รีบโทรศัพท์แจ้งสามีและขับมอเตอร์ไซค์ไปยังจุดเกิดเหตุ

“ผมรู้สึกสื้นหวัง เบื่อบ้าน ไม่อยากกลับไปเจอปัญหาเดิมๆ ผมขับรถไปส่งของให้ลูกค้าเสร็จ ตัดสินใจว่าจะกระโดดน้ำตาย จอดมอเตอร์ไซค์ทิ้งไว้ที่ไหล่ทาง แล้วก็มายืนมองลงไปที่แม่น้ำเจ้าพระยา...ตอนนั้นผมมีสติ ไม่ได้อุปทานนะ ผมได้ยินเสียงกระซิบจากสายน้ำที่ระยิบระยับว่า ที่นี่สวยนะ สงบนะ โดดลงมาซิ ขณะที่ผมปืนขั้นไปบนราวสะพาน กำลังจะกระโดด ได้ยินเสียงใครคนหนึ่ง ตะโกนว่า ไอ้หนุ่มเอ็งจะทำอะไร แล้วเขาก็กระชากผมลงมา และกอดผมบอกว่า มีปัญหาอะไร ค่อยๆคุยกัน อย่าทำอย่างนี้ ผมร้องให้ ....จากนั้นผมเห็น แม่ พ่อและเมียวิ่งมาร้องให้ กอดผม”

กาย เล่าว่า ในช่วงค่ำวันนั้นเขาได้เห็นข่าวของตัวเองออกสื่อในหลายช่องทาง และย้อนคิดว่า หากเย็นวันนั้นเขาไม่ถูกชายสูงวัยกระชากตัวลงมาจากราวสะพานพระราม 4 เขาเหลือแต่ชื่อ และวันนนี้อาจไม่ได้เห็นการเจริญเติบโตของลูกสาวในวัย 6 เดือน

“กาย” ไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้ายที่หวังปลิดชีพตัวเองหนีปัญหา เขาไม่ได้มีอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า หรือเป็นผู้ป่วยไบโพล่า เหมือนศิลปินหรือคนดังที่สังคมรู้จัก แต่ความเครียดจากปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ ค่าครองชีพ หนี้สิน คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจอยากลาโลก

มีตัวเลขจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เฉลี่ยแล้วคนไทยมีความพยายามฆ่าตัวตาย 53,000 คน/ปี ฆ่าตัวตายได้สำเร็จประมาณ 4,000 คนต่อปี และคนที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จนั้นมีแนวโน้มที่จะพยายามกลับมาฆ่าตัวตายซ้ำอีกและหากตัวดูเลขการตายอย่างผิดธรรมชาติของประชากรไทยพบว่า อันดับ 1 คือ อุบัติเหตุ อันดับ 2 คือการฆ่าตัวตายและอันดับ 3 คือการฆ่ากันตายจึงเห็นได้ว่าการฆ่าตัวตายนั้นมีตัวเลขเฉลี่ยที่สูงกว่าการฆ่ากันตาย และพบว่าเฉลี่ยแล้ว 9.55 นาที จะมีคนพยายามฆ่าตัวตาย 1 คน ขณะที่ 2 ชั่วโมงจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กลุ่มคนที่ประสบกับภาวะความเครียด ซึมเศร้าและหมดไฟจะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตเวช และปัญหาอื่นๆตามมา โดยเฉพาะการฆ่าตัวตาย ซึ่งภาวะดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับทุกคน แต่ผลการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงานตอนต้น มีปัญหาดังกล่าวสูงกว่าวัยผู้ใหญ่ถึง 4 เท่า แม้ตัวเลขนี้ไม่ได้แปลว่าเขาจะฆ่าตัวตายมากกว่า และความเครียดก็ไม่ได้ส่งผลโดยตรงที่ทำให้ฆ่าตัวตายเสมอไป แต่อัตราการฆ่าตัวตายของคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ช้าๆมาประมาณ 4 ปีแล้ว ค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ

“สาเหตุ คือ ช่วงวัยนี้เป็นวัยที่เปลี่ยนผ่าน ขณะที่ครอบครัวมีสัมพันธภาพที่เปลี่ยนไป สับสน มีแรงกดดันจากปัญหาการเงิน เศรษฐกิจ ทำให้จิตใจเปราะบาง การมีข่าวการฆ่าตัวตายเยอะ แม้ข่าวอาจไม่ได้สะท้อนโดยตรง แต่ก็บ่งบอกว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้น “อธิบดีกรมสุขภาพกจิต กล่าว

พญ.อัมพร ย้ำว่า ขณะนี้พบว่ากลุ่มวัยรุ่นมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้น สาเหตุเกิดปัจจัยแวดล้อม เช่น ปัญหาจากการครอบครัว การเลี้ยงดู การเข้าถึงสื่อ ต้องยอมรับว่าสังคมที่เน้นวัตถุนิยม ความเป็นสังคมเมือง กำลังการผลิตทางวัตถุจะทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจสูงขึ้นตามมาด้วย แต่ปัญหานี้จะย้อนกลับมาที่ครอบครัว แม้สิ่งแวดล้อมภายนอกอาจจะทำให้เด็กอ่อนไหว แต่ถ้าครอบครัวแข็งแรง มีความรัก ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ปัญหานี้จะลดลง

“นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่มีอาการเป็นไบโพล่า มีอารมณ์แกว่งไกว ยากต่อการปรับตัว ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกันื เราจะเห็นได้ว่าโรคพวกนี้มักจะเกิดในกลุ่มที่เป็นศิลปิน ซึ่งมันเหมือนดายสองคม เพราะด้านหนึ่งของความเป็นศิลปิน พวกเขาจะมีความอ่อนไหว มีเสน่ห์มาก มุมหนึ่ง เขาจะเป็นนักสร้างสรรค์ ประฃสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่อีกมุมหนึ่งจะมีอารณ์อ่อนไหว และบางเรื่องอาจนำไปสู่ความเปราะบางทางจิตใจได้ ซึ่งปัญหานี้เราจะพบเป็นระยะๆในกลุ่มศิลปิน ที่เจ้าตัวและทางครอบครัวจะต้องประคับประคองดูแลให้ดี “พญ.อัมพร กล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า สำหรับกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากๆในปัจจุบัน คือ กลุ่มที่มีช่วงรอยต่อของอายุที่เปลี่ยนจากวัยทำงานก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่วพบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเองสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่า ข่าวของคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มวัยที่ไม่หวือหวา ไม่เป็นข่าว เพราะสภาพไม่แปลกไม่ใหม่ ไม่ได้ถูกจับตาในสังคม แต่สำหรับกลุ่มนี้เป็นเรื่องที่คนในครอบครัวจำเป็นต้องเฝ้าระวังให้มากเช่นกัน โดยเฉพาะวัยเกษียณอายุ เพราะถือเป็นรอยต่อของชีวิตที่อยู่ในช่วงขาลง

อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้อาจมีปัญหาจากการยอมรับตัวเอง ไม่ได้จากปัญหาสภาพร่างกาย การเปลี่ยนบทบาทหรือหน้าที่ในครอบครัว เคยเป็นผู้นำ มีอำนาจ มีฐานะทางการเงิน หลายๆคนพบว่า มีภาวะซึมเศร้าได้ ไม่มีใครไปมาหาสู่เหมือนก่อน...ในอดีต การฆ่าตัวตาย จะเห็นในกลุ่มผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังขั้นรุนแรง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ผู้ป่วยติดเตียง แต่ปัจจุบันมักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช ซึมเศร้า ไบโพล่า หรือผู้ป่วยที่ติดสารเสพติดรื้อรัง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากในการทำร้ายตัวเอง

พญ.อัมพร กล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวครอบครัวเป็นเกราะสำคัญที่สุด โดยช่วงหลังๆพบว่า ผู้คนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคดังกล่าวมากขึ้น และสามารถเข้าถึงการรักษาและการวินิจฉัยของแพทย์ได้เร็วขึ้น และส่วนใหญ่จะถูกช่วยเหลือให้รอดพ้นจากการฆ่าตัวตาย ยกเว้นบางรายที่อาจมีข้อกำจัด และความเปราะบางที่ที่ทำให้เขาเข้าสู่ภาวะตรงนั้น และเราไม่สามารถช่วยเหลือได้