posttoday

แพทย์แนะวิธีสังเกตเชื้อโควิดลงปอด"ไอถี่-เหนื่อย"อันตราย

08 เมษายน 2565

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเปิดแนวทางดูแลผู้ป่วยโควิดสำหรับ"นอนรพ.-อยู่บ้าน" แนะวิธีสังเกตเชื้อลงปอด "ไอถี่-เหนื่อย"ย้ำวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็นมาก ขอสงกรานต์ปลอดภัยใส่แมสก์-ตรวจ ATK

เมื่อวันที่ 8 เมษายน ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ถึงประเด็น “ติดโควิดแล้ว รักษาอย่างไรให้ตรงอาการ?” ว่า การดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการน้อยหรือกลุ่มสีเขียว ขณะนี้จะเน้นการรักษาที่บ้าน(HI) เพื่อปรับตัวเข้าสู่โรคประจำถิ่น(Endemic) ซึ่งจะต้องมาพัฒนาระบบการติดต่อผ่านโทรศัพท์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถติดต่อกับแพทย์ได้เป็นระยะ โดยเฉพาะกรณีที่อาการรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ ภาพรวมการดูแลผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรง เช่นต้องเครื่องช่วยหายใจอยู่ในโรงพยาบาล(รพ.) ขณะนี้อยู่ที่ 700-800 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ไม่ใช่การใช้แบบเต็มรูปแบบ เป็นการใช้ระยะสั้น 1-2 วันแรก โดยอาการจะดีขึ้นหลังได้รับยาต้านไวรัส อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ที่ควรมีติดบ้านคือ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เพื่อให้ผู้ติดเชื้อดูความเสี่ยงต่อเชื้อโควิดที่อาจจะลงปอดได้ ระดับที่ต้องระวัง คือ 95-96% พร้อมดูอาการอื่นประกอบ เช่น ไข้สูง ไอถี่ๆ แล้วหลังไอรู้สึกเหนื่อยหอบ เป็นข้อสังเกตว่า พบปัญหาเรื่องปอด โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงโรคถุงลมโป่งพอง สูบบุหรี่จัด อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเชื้อโควิดจะลงปอดคือ กลุ่ม 608 และผู้สูบบุหรี่ ทั้งนี้ การฟื้นฟูการทำงานของปอดหลังติดเชื้อ แนะนำให้ใช้การเดินช้าๆ อย่าหักโหม ออกไปโดนแสงแดดบ้างและนอนหลับให้เพียงพอ

ทั้งนี้ ช่วงสงกรานต์ปีนี้ ขอให้ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดโดยเฉพาะเข็มกระตุ้น เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง เราคาดไว้ว่าหากฉีดเข็ม 3 ได้ถึง 80% สถานการณ์จะดีขึ้น ลดอัตราการป่วยหนัก บรรเทาการเข้ารพ.ได้ พร้อมทั้งการไปอยู่รวมกันก็ขอให้มีการตรวจ ATK ก่อนเดินทาง เปิดบ้านให้มีอาการถ่ายเทให้สะดวก สวมหน้ากากอนามัย ขณะที่ การทำความสะอาดจุดสัมผัส เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมาก เพียงใช้น้ำสบู่เช็ดทำความสะอาด ปล่อยให้แห้ง เชื้อก็จะถูกทำลายไปหมด

แพทย์แนะวิธีสังเกตเชื้อโควิดลงปอด\"ไอถี่-เหนื่อย\"อันตราย

ด้าน รศ.นพ.ธนา ขอเจริญพร ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อโควิดปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.ผู้ป่วยนอก จะมี 2 กรณี แบ่งเป็นโครงการ “เจอแจกจบ” ผู้กลุ่มสีเขียว อาการน้อย สามารถติดต่อ รพ. เพื่อรับยาตามอาการ เดินทางกลับบ้านสังเกตอาการ โดยจะมีแพทย์ติดตามใน 48 ชั่วโมงแรก จากนั้นสามารถดูแลตัวเองต่อเนื่องอีก 10 วัน ถ้าหากมีอาการมากขึ้น สามารถติดต่อกับ รพ.ได้ทันที กับอีกกลุ่มจะเป็นรักษาที่บ้าน(HI) ซึ่งจะมีอาการมากกว่า แพทย์จะติดตามในระยะ 5 วัน ส่วนใหญ่ใช้ยารักษาตามอาการ ได้รับยาต้านไวรัสตามข้อบ่งชี้ และ 2.ผู้ป่วยใน จะมี 2 กรณี แบ่งเป็นการรักษาใน รพ.สนาม/Hospitel ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ที่ต้องได้รับการดูแลมากขึ้น และ ผู้ป่วยใน รพ.หลัก จำเป็นต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ และมีแพทย์ดูแลใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การรับเป็นผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน จะอิงจากแนวทางการรักษาที่ออกโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา เพื่อคัดกรองอาการเบื้องต้น เช่น ไอถี่ หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก การวัดระดับออกซิเจนในเลือด

“หลักสำคัญคือต้องลดอัตราติดเชื้อลง เพราะหากติดเชื้อหลักแสน การจะพบผู้ป่วยอาการรุนแรงก็มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ยาต้านไวรัส หากได้รับเร็วก็จะได้ลดโอกาสอาการรุนแรงได้มาก” รศ.นพ.ธนา กล่าว

แพทย์แนะวิธีสังเกตเชื้อโควิดลงปอด\"ไอถี่-เหนื่อย\"อันตราย

สำหรับ หญิงตั้งครรภ์ สามารถใช้การรักษาแบบ HI ได้ ซึ่งจะมีแพทย์คอยติดตามอาการ หากพบว่าอาการมากขึ้นก็จะมีการรับเข้า รพ.ได้ทันที หลักการทั่วไปจะเป็นแนวทางเดียวกับการรักษาผู้ป่วยกลุ่ม 608 แต่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้ ยาต้านไวรัส ในผู้ที่อายุครรภ์ไตรมาส 1 จะห้ามใช้ยา แต่ไตรมาสที่ 3-4 เป็นต้นไป ก็จะชั่งความเสี่ยงกับประโยชน์ความจำเป็น ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยกลุ่มเด็ก ยาต้านไวรัสที่ให้จะต้องปรับขนาดตามน้ำหนักตัว พร้อมดูความปลอดภัยเพราะอาจจะไม่สามารถใช้ยาได้ทุกตัวเหมือนผู้ใหญ่

“สำหรับคำถามว่าอาการโควิดลงปอด คือ ไอเยอะ ไอต่อเนื่อง รู้สึกไม่สบายหน้าอก มีอาการหอบเหนื่อย ให้สงสัยว่ามีปอดอักเสบร่วมซึ่งต้องเข้ารับรักษาใน รพ. อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มเขียวอาการน้อยแต่ผลเอกซเรย์พบจุดขาวที่ปอด แต่เราต้องใช้การวินิจฉัยเพิ่มเติม เพราะบางครั้งจุดเล็กๆ อาจไม่มีผลกับผู้ป่วยที่ปอดแข็งแรง ทั้งนี้ ปริมาณเนื้อปอดที่ถูกทำลายหลังติดเชื้อก็ต่างกันไปควบคู่กับอาการลองโควิด ที่ทำให้เหนื่อยเพลียหลังหายติดเชื้อ กลุ่มนี้ต้องใช้เวลาหลักเดือนถึงปี เพื่อให้ปอดฟื้นฟู หรือปรึกษาแพทย์ในการใช้วิธีรักษาด้วยการฝึกการหายใจ” รศ.นพ.ธนากล่าว