posttoday

กรมชลฯกางแผงสร้างประตูระบายน้ำพัฒนาลุ่มน้ำยมตอนล่าง

04 เมษายน 2565

กรมชลประทานเดินหน้าพัฒนาลุ่มน้ำยมตอนล่างหวังเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำหลาก และภัยแล้งคาดเก็บกักน้ำได้รวมกันกว่า 39 ล้านลบ.ม.มีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 200,000 ไร่ ใน จ.พิษณุโลกและพิจิตร

เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง 4 แห่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากที่ไหลมาจากพื้นที่ตอนบน ได้แก่ ประตูระบายน้ำ(ปตร.)ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ปตร.ท่าแห อ.สามง่าม จ.พิจิตร ปตร.บ้านวังจิก และ  ปตร.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาได้รวมประมาณ 38.91 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ได้รับประโยชน์จากระบบชลประทานได้ 198,746 ไร่ อีกทั้งช่วยลดมวลน้ำหลากในช่วงฤดูฝน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568  ปัจจุบันมีผลงานคืบหน้าสะสมเฉลี่ยทั้งโครงการฯ รวมประมาณร้อยละ 44 ของแผนงาน

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำยม ยังไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดปัญหาทั้งอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของลุ่มน้ำยมตอนล่างเป็นประจำ ขณะเดียวกันสภาพภูมิประเทศของลุ่มน้ำยมตอนล่างไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาหรือสร้างอ่างเก็บน้ำได้ กรมชลประทาน จึงได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วง ๆ แบบขั้นบันได เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้เกษตรกร สามารถนำน้ำไปใช้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งลำน้ำ ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างฝายยาง และฝายคอนกรีต เพื่อใช้บริหารจัดการน้ำในลำน้ำยมตอนล่างจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ฝายพิจิตร ฝายพญาวัง บริเวณอำเภอโพทะเล ฝายสามง่าม อ.สามง่าม จ.พิจิตร สามารถบริหารจัดการน้ำได้รวม 22.61 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้ใช้ประโยชน์รวมประมาณ 111,000 ไร่

กรมชลฯกางแผงสร้างประตูระบายน้ำพัฒนาลุ่มน้ำยมตอนล่าง

นายประพิศ กล่าวว่า ในส่วนของฝายสามง่าม ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันมีสภาพชำรุดเสียหาย กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นฝายยางน้ำล้น สามารถเก็บกักน้ำได้ 11.47 ล้าน ลบ.ม. ปรับปรุงเป็นฝายพับไฮดรอลิค สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นเป็น 13.39 ล้าน ลบ.ม.  ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการออุปโภคบริโภคและการปลูกพืชฤดูแล้ง  ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากอีกด้วย มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 30,000 ไร่

“การพัฒนาแหล่งน้ำภายใต้ข้อจำกัดของลักษณะภูมิประเทศในครั้งนี้ จะช่วยสร้างแหล่งเก็บน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรและชุมชนที่อาศัยอยู่ตลอดลุ่มน้ำยมตอนล่างระยะทางกว่า 225 กิโลเมตร ได้ปริมาณน้ำรวม 61.52 ล้านลบ.ม. สามารถเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำให้กับราษฎร ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ในเขตจ.พิษณุโลก ได้แก่ ต.บางระกำ ต.วังอีทก ต.พันเสา ต.บ่อทอง ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ และอีก 1 ตำบลในเขตจ.พิจิตร คือ ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม รวมพื้นที่ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้นกว่า 300,000 ไร่” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

กรมชลฯกางแผงสร้างประตูระบายน้ำพัฒนาลุ่มน้ำยมตอนล่าง