posttoday

สสส.ผนึกกำลังปลุกพลังผู้ก่อการดีสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เยาวชน

29 มีนาคม 2565

อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ จับมือ สสส.ปลุกพลังผู้ก่อการดี 8 ชุมชนทั่วประเทศสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนได้มาเรียนรู้ร่วมกับผู้ใหญ่และเป็นต้นแบบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พื้นที่อื่นๆนำไปต่อยอด

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.)จับมือ Imagine Thailand Movement เปิดห้องปฎิบัติการทางสังคม หวังปลุกพลังผู้ก่อการดี 8 ชุมชน ทั้งศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน ปราชญ์ เยาวชน ผู้นำชุมชน เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้โครงการ “พัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ” โดยเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะในชุมชนให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนได้มาเรียนรู้ร่วมกับผู้ใหญ่และเป็นต้นแบบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พื้นที่อื่นๆนำไปต่อยอดขยายผลให้เกิดพื้นที่สุขภาวะในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ณ โรงแรมรอยัลเจมส์ กอล์ฟ รีสอร์ท จ.นครปฐม

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ  Imagine Thailand Movement เปิดเผยว่า เป้าหมายของ อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ อยากจะเห็นประเทศไทย และอยากเห็นคนไทยมีสังคมสุขภาวะ “Well being society” โดยขณะนี้ได้รับความร่วมมือจาก 8 ชุมชนที่ให้ความสนใจอยากทำให้เกิดพื้นที่สุขภาวะขึ้นในชุมชน ด้วยตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมโซเซียลมีเดียทำให้เยาวชนเข้าใกล้ปัจจัยเสี่ยงได้ง่ายขึ้น ขณะที่สัมพันธภาพของคนในสังคม คนต่างวัยก็ห่างกันไปทุกที ทำอย่างไรที่เด็กจะได้เรียนรู้จากผู้ใหญ่ ทำอย่างไรที่ผู้ใหญ่จะมีพื้นที่ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับเด็กๆ ให้พวกเขาได้มีภูมิคุ้มกันทางสังคม มีความอบอุ่น และรู้สึกมีค่าพร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดมาจากการขับเคลื่อนความร่วมมือลดปัจจัยเสี่ยงให้เยาวชน และ โครงการศิลปินแห่งชาติ ปราชญ์ ปัญญาชน สร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ทำให้ได้เครือข่ายที่มีศักยภาพ มีความพร้อม และมีความมุ่งหวังที่อยากจะพัฒนาพื้นที่ตนเองให้เป็นพื้นที่สุขภาวะสำหรับ คนในชุมชน โดยในปีนี้มีพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ 8 ชุมชนเป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ 1.ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ จ.นครปฐม 2.ชุมชนวัดโพธิ์เรียง กทม. 3. ศูนย์การเรียนรู้เสริมทรัพย์ ต.เจดีย์ชัย จ.น่าน 4.ศูนย์การเรียนรู้ลำตัดหวังเต๊ะ-คุณแม่ศรีนวล ขำอาจ จ.นครปฐม 5.ชุมชนบ้านท่ามะพร้าว จ.กระบี่ 6.สวนศิลป์บ้านดิน ชุมชนเจ็ดเสมียน  จ.ราชบุรี 7.โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ 8.ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหัวอ่าว จ.นครปฐม

“กิจกรรมครั้งนี้เรานำกระบวนการที่เรียกว่า ห้องปฎิบัติการทางสังคม Social Lab ชวนให้ผู้นำในแต่ละพื้นที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และในขณะเดียวกันมองเห็นโอกาสต่างๆ ที่มีในพื้นที่ตนเอง และดึงศักยภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ เราใช้แนวคิดเรื่องการเริ่มจากสิ่งที่มี ให้ทุกคนมองย้อนกลับเข้าไป ทบทวน สะท้อนคิด มองให้เห็นจุดแข็ง  ให้เห็นเรื่องราวดีๆ ที่มีอยู่ และเป็นความภูมิใจของชุมชน เช่น ภูมิปัญญา วัฒนธรรม กีฬา วิถีการทำเกษตร   ประวัติศาสตร์ จุดท่องเที่ยว ความรู้ ปราชญ์ เครือข่าย รวมถึงคนที่มีจิตอาสาที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ก่อการดี  แม้กระทั่งเพื่อนร่วมทาง และนำสิ่งนั้นขึ้นมาพัฒนาขับเคลื่อนไปด้วยกัน”ดร.อุดมกล่าว