posttoday

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯพระราชทานคำแนะนำพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยภาคใต้

20 กุมภาพันธ์ 2565

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทอดพระเนตรงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ 14 จังหวัดภาคใต้ ทรงพระราชทานคำแนะนำในการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยังความปลาบปลื้มสร้างขวัญกำลังใจมุ่งมั่นพัฒนาฝีมือเพื่อรักษาภูมิปัญญาอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในวโรกาสที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 19 ก.พ. พระองค์ได้ทรงติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าตามที่ได้ทรงมีพระวินิจฉัย เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรการจัดแสดงและสาธิตผลิตภัณฑ์ผ้าทอประจำถิ่นลวดลายต่าง ๆ และหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ที่จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2564 ในการทอดพระเนตรครั้งนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ พร้อมด้วยกลุ่มทอผ้า และผ้าบาติก จำนวน 53 กลุ่ม จากจังหวัดสงขลา 9 กลุ่ม จังหวัดกระบี่ 4 กลุ่ม จังหวัดชุมพร 2 กลุ่ม จังหวัดตรัง 2 กลุ่ม จังหวัดนครศรีธรรมราช 7 กลุ่ม จังหวัดนราธิวาส 10 กลุ่ม ปัตตานี 6 กลุ่ม จังหวัดพังงา 1 กลุ่ม จังหวัดพัทลุง 3 กลุ่ม จังหวัดภูเก็ต 1 กลุ่ม จังหวัดยะลา 2 กลุ่ม จังหวัดระนอง 2 กลุ่ม จังหวัดสตูล 3 กลุ่ม และจังหวัดสุราษฏร์ธานี 2 กลุ่ม เข้าเฝ้าถวายรายงาน และถวายผลงานให้ทอดพระเนตร เพื่อทรงมีพระวินิจฉัยพระราชทานคำแนะนำให้แก่กลุ่มทอผ้า อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ อาทิ ว่าที่ร้อยโท ดิลก ศิริวัลลภ ชาวนราธิวาส ผู้ถวายงานล่ามภาษามลายู ร่วมถวายงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ร่วมตามเสด็จในการให้คำแนะนำกับกลุ่มทอผ้า และผ้าบาติก อาทิ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ท่านผู้หญิงสุภรณ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ดร.ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ ประจำสำนักพระราชวังพิเศษ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือและอาจารย์ปัญญา พูลศิลป์ ชาวสงขลา ผู้สะสมผ้าโบราณภาคใต้ไว้นับ 1,000 ผืน

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯพระราชทานคำแนะนำพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยภาคใต้

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนพร้อมด้วย ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้เห็นถึงพระวิริยะ อุตสาหะ ที่ทรงทุ่มเทและเอาพระทัยใส่ในการคิดค้นหาวิธีการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าให้กับพี่น้องผู้ทอผ้า และผ้าบาติกของจังหวัดภาคใต้ โดยทรงนำพระวินิจฉัยที่เคยพระราชทานให้กับผู้ประกอบการที่จังหวัดนราธิวาสไปทรงงานอย่างหนัก และมาพระราชทานคำแนะนำ เทคนิค วิธีการ รวมถึงช่องทางการตลาดให้เข้าถึงลูกค้า ผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ โดยละเอียดอย่างใกล้ชิด ด้วยทรงมุ่งปรารถนาจะเห็นพสกนิกรของพระองค์มีคุณภาพชีวิตที่ดี จากผลงานผลผลิตผ้าทอถิ่นและผ้าบาติกอย่างยั่งยืน ด้วยพระปณิธานอันแน่วแน่มั่นคงที่จะสืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อส่งเสริมให้ภูมิปัญญาผ้าไทย อัตลักษณ์ความเป็นไทยบนผืนผ้า ได้ปรากฏ เกิดเป็นงาน เป็นอาชีพ ที่สร้างรายได้ เกิดเป็นทุนทรัพย์ และเงินกลับคืนสู่ประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนเหล่านั้น ครอบครัวของผู้ทอผ้า ผ้าบาติก ผ้าพื้นถิ่น ได้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่สามารถเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว และพึ่งพาตนเองได้

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาที่พระองค์ท่านเอาพระทัยใส่ในชิ้นงานของกลุ่มทอผ้า กลุ่มผ้าบาติก ทุกกลุ่ม ทุกชิ้นอย่างลึกซึ้ง โดยสามารถจดบันทึกพระดำรัสที่พระราชทานคำแนะนำในการพัฒนางานผลิตภัณฑ์ผ้าได้ถึง 1 เล่ม เช่น 1.กลุ่มกะลามะพร้าวบ้านหน้าถ้ำ บาติกยางกล้วย เรียนรู้เทคนิคการทำผ้าจากพ่อที่เป็นควานช้าง โดยผ้าใยกล้วยใส่แล้วมีคุณสมบัติให้ความเย็นกับร่างกาย ซึ่งทรงมีพระวินิจฉัยให้ปรับลาย ปรับโทนสีที่ไม่สม่ำเสมอ เพื่อให้ผลงานมีความงดงามขึ้น 2. กลุ่มคีรีวงศ์ นำเสนอผ้ามัดย้อมบ้านคีรีวงศ์ ซึ่งมีพระวินิจฉัยให้ปรับลายให้มีขนาดใหญ่ เล็ก และเพิ่มพื้นที่ (space) ลดความหนาแน่นของลาย เพื่อความสวยงาม 3.ศรียะลาบาติก ผลงานย้อมสีผ้าจากเปลือกเงาะที่รับประทานแล้ว ย้อมด้วยการหมักโคลน ผ้า cotton silk ใช้น้ำมะพร้าว โดยทรงมีพระวินิจฉัยให้นำสูตรการย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติไปเผยแพร่ให้กับผู้ทอผ้าอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการใช้สีจากธรรมชาติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4.รายาบาติก ทรงพระพระวินิจฉัยให้ปรับระดับสี เพิ่มพูนด้านการวาดสีน้ำ เพื่อพัฒนาการย้อมสีผลงานให้มีเอกลักษณ์สวยงามขึ้น และนิทรรศการผ้าโบราณ ทรงพระวินิจฉัยให้แกะลาย จัดทำเป็น Digital Photo บันทึก-สแกนภาพ ทำฐานข้อมูล (Database) และนำลายลง Summer Trend Book เป็นต้น

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯพระราชทานคำแนะนำพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยภาคใต้

ทั้งนี้ พระวินิจฉัยและคำแนะนำพระราชทานเหล่านี้ ล้วนแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านงานศิลปกรรมที่หลากหลาย ที่ทรงคิดค้น พัฒนาผลงานด้านแฟชั่นดีไซน์ และทรงรังสรรค์ผลงานออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับ เครื่องใช้ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นไทย และพระราชทานให้กับกลุ่มทอผ้า กลุ่มผ้าบาติก อันส่งผลให้เกิดการยกระดับวงการผ้าไทย สร้างมูลค่าเพิ่มของผ้าไทย เกิดเป็นเม็ดเงินกลับไปสู่ชุมชน ชุบชีวิต ต่อลมหายใจ ของประชาชนกลุ่มทอผ้า ให้สามารถเลี้ยงครอบครัว และเกิดแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ รุ่นลูก รุ่นหลาย มาสานต่อ สืบสานอาชีพของปู่ย่าตายาย ให้คงอยู่คู่กับชุมชน คู่กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งทรงเน้นย้ำกำชับปลัดกระทรวงมหาดไทย และตน ให้ตระหนักเสมอว่า “อย่าทิ้งงาน อย่าทิ้งชาวบ้าน” ขอให้ลุยงานหนัก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย และพระราชทานลายพระหัตถ์ว่า “จงฟื้นขึ้นมา จงตื่นขึ้นมา” พร้อมลงพระนามกำกับไว้ เพื่อกระตุ้นให้และพระราชทานกำลังใจในการค้นคว้าหาทางทำให้ลายผ้าโบราณกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

ด้านตัวแทนกลุ่มทอผ้า และผ้าบาติก ในพื้นที่จังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ เล่าว่า ภายหลังได้เข้าเฝ้าทูลถวายรายงานและนำเสนอผลงานแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทอดพระเนตร และทรงมีพระวินิจฉัย พระราชทานคำแนะนำ ด้วยความตื้นตันใจ ซาบซึ้ง และสำนึกในพระมหากรุณา เพราะพระองค์ทรงให้คำแนะนำโดยไม่ถือพระองค์ ทรงอยู่กับพวกเราอย่างใกล้ชิด ทรงทอดพระเนตรผลงานที่พวกเราได้ตั้งใจผลิตอย่างดีที่สุด เพื่อให้พระองค์ได้ทอดพระเนตร จากพระวินิจฉัยที่ได้พระราชทานคำแนะนำนับว่า พระองค์ทรงใส่พระทัยในสิ่งเล็ก ๆ ที่พวกเรานึกไม่ถึง ทรงมีพระปรีชาสามารถในเรื่องผ้าอย่างลึกซึ้ง ทุกคำแนะนำที่พระองค์พระราชทาน นับเป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่พวกเราจะนำกลับไปทำการบ้าน นำกลับไปเร่งพัฒนา เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่วิจิตร สวยงาม

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯพระราชทานคำแนะนำพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยภาคใต้

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ทำให้กลุ่มมีรายได้จากการทอผ้า และผลิตผ้าบาติก มากมายมหาศาล จนมีออร์เดอร์ให้ผลิตผ้าส่งไปในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน จนหลายออร์เดอร์ต้องใช้เวลาในการผลิตตามจำนวนที่สั่งเป็นจำนวนมาก พระองค์ท่านมิได้พระราชทานเพียงแค่คำแนะนำหรือแนวทางในการพัฒนารูปแบบผ้า แต่พระองค์ทรงชุบชีวิตพวกเราให้ลืมตาอ้าปากได้ ให้มีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคงจากภูมิปัญญาของพวกเราเอง มีเงินเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว มีเงินส่งเสียเลี้ยงดูลูกหลาน ในยามที่เรากำลังประสบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจะเร่งนำคำแนะนำพระราชทานที่ได้รับในครั้งนี้ ไปพัฒนา สร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ ยกระดับผลงานให้เป็นที่แพร่หลายออกสู่ตลาดอย่างเต็มความสามารถ

เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯพระราชทานคำแนะนำพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยภาคใต้