posttoday

กรมเจ้าท่า จี้ SPRC เคลียร์น้ำมันค้างท่อ 1.2 หมื่นลิตรก่อนปิดรอยรั่ว

20 กุมภาพันธ์ 2565

กรมเจ้าท่าออกโรงแจงปมร้อนกลางสภาฯกรณีน้ำมันรั่วทะเลระยอง เร่งกำจัดน้ำมันค้างท่อก่อนปิดรอยรั่ว ขณะที่แจ้งความเอาผิด SPRC แล้ว

นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย รายงานข่าวจากกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ระหว่างวันที่ 17 – 18 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหลกลางทะเลระยอง พร้อมการดำเนินคดี การฟื้นฟู เยียวยา

ทางกรมเจ้าท่า ขอเรียนชี้แจง ดังนี้ จากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วไหลอย่างต่อเนื่อง โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และ ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าและการแก้ไข พร้อมสั่งการให้กรมเจ้าท่า และทุกภาคส่วน เร่งดำเนินการขจัดคราบน้ำมันดิบรั่วไหลฯ เพื่อลดผลกระทบกับประชาชน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้น้อยที่สุด โดยปัจจุบัน กรมเจ้าท่าได้ส่งเรือตรวจการณ์ 804 พร้อมเจ้าหน้าที่ ยังคงเฝ้าระวังบริเวณทุ่น SINGLE POINT MOORING (SPM) ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา กรมเจ้าท่า ได้รับแจ้งจาก บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) SPRC ที่ได้ดำเนินการขยับท่อ เพื่อตรวจสอบท่อบริเวณจุดรั่วทุ่นผูกจอดเรือ SPM (single point mooring) ทำให้เกิดเหตุน้ำมันดิบที่ค้างท่อเดิมไหลออกสู่ทะเลเพิ่มเติม ซึ่งจากการประมาณการ มีปริมาณน้ำมัน 5000 ลิตร บริษัท SPRC ได้ดำเนินการเข้าล้อมบูมและดำเนินการเร่งจัดเก็บคราบน้ำมันดังกล่าวฯ เรียบร้อยแล้ว

กรมเจ้าท่า จี้ SPRC เคลียร์น้ำมันค้างท่อ 1.2 หมื่นลิตรก่อนปิดรอยรั่ว

นอกจากนี้ยังได้ออกประกาศสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง ที่ 6/2565 เรื่อง การแจ้งเตือนให้ระมัดระวังการเดินเรือบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงานขจัดคราบน้ำมันจังหวัดระยอง และได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด ในการกระทำดังกล่าวที่ฝ่าฝืนคำสั่งระงับใช้ท่าเรือ และก่อให้เกิดมลพิษทางทะเล เพื่อดำเนินคดีกับบริษัท SPRC และบุคคลที่เกี่ยวข้องในความผิดตามมาตรา 119 ทวิ และมาตรา 297 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย

นอกจากนี้กรมเจ้าท่ามีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ ดำเนินการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุในระดับ Tier 1 ที่มีระดับปริมาณรั่วไหลไม่เกิน 20 ตัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างขนถ่ายน้ำมัน ผู้ที่ทำให้เกิดน้ำมันรั่วไหลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการขจัดคราบน้ำมัน หรือขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัท SPRC จะต้องดำเนินการฟื้นฟูตามมาตรการ พร้อมประเมินค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมัน

อย่างไรก็ตามวันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2565) นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย ได้เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ Zoom ซึ่ง บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) SPRC ได้นำเสนอแผนการนำน้ำมัน ที่คาดว่าคงเหลืออยู่อีกประมาณ 12,000 ลิตร ออกจากท่อที่เสียหายและพันปิดรอยรั่ว และแผนการเตรียมการเฝ้าระวังและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ซึ่งบริษัทได้เสนอแผนการปฏิบัติงานในเบื้องต้นต่อที่ประชุม ซึ่งแบ่งการปฏิบัติงานออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การฉีดน้ำยากันรั่วที่บอลวาล์ว 2. การดูดน้ำมันที่คงค้างออกจากท่อ 3. การพันปิดรอยรั่วทั้ง 2 จุด โดยอุปกรณ์ชนิดพิเศษ ซึ่งการปฏิบัติการทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับ ดูแลจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และจากบริษัทผู้ผลิตท่อส่งน้ำมัน และประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยมีการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มงาน

ทางบริษัทฯ ได้มีแผนการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและการเตรียมการเฝ้าระวัง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ติดตั้งทุ่นกักน้ำมัน จำนวน 5 เส้น ความยาวเส้นละ 200 เมตร บริเวณทุ่น SINGLE POINT MOORING (SPM) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้เรือลากจูงจำนวน 10 ลำในการลากจูงทุ่นกักน้ำมัน กลุ่มที่ 2 ติดตั้งอุปกรณ์ฉีดพ่นสารขจัดคราบน้ำมันบนเรือลากจูง กลุ่มที่ 3 ติดตั้งอุปกรณ์เก็บคราบน้ำมันบนเรือ ศรีราชา ออฟชอร์ 881 ซึ่งสามารถเก็บน้ำมันได้ถึง 1 แสนลิตร/ชั่วโมง

กรมเจ้าท่า จี้ SPRC เคลียร์น้ำมันค้างท่อ 1.2 หมื่นลิตรก่อนปิดรอยรั่ว

ขณะเดียวกันเตรียมเรือสำหรับรับน้ำมันที่สูบขึ้นมาจากท่อในทะเล ติดตั้งเต็นท์ดักคราบน้ำมันใต้ทะเล ติดตั้งปั้มสำหรับดูดน้ำมันออกจากเต็นท์ดักคราบน้ำมันใต้ทะเล และประสานกองทัพเรือเตรียมเรือหลวงหนองสาหร่าย สำหรับเฝ้าระวังและบันทึกภาพงานใต้น้ำ พร้อมนักประดาอีก 24 นาย ซึ่งได้เน้นย้ำ SPRC ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมประชุม และให้จัดส่งเอกสารเสนอแผนการดำเนินงานทั้งหมดอีกครั้งถึงสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยองก่อน 10 โมงเช้าของวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อดำเนินการอนุมัติแผนการปฏิบัติการในขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป

“เหตุการณ์ดังกล่าว ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างร้ายแรง ส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมแก้ปัญหาและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันฯ กรมเจ้าท่า ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด ตามมาตรา 119 ทวิ ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือฯ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้น้ำมันและเคมีภัณฑ์หรือสิ่งใด ๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย อันอาจเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อมหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 การฝ่าฝืนเงื่อนใขการประกอบกิจการท่าเรือ พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีได้ โดยกำหนดบทลงโทษปรับสูงสุดสองหมื่นบาท และมีโทษปรับรายวันอีกด้วย”