posttoday

นำเข้าหมู EU ทางรอด "หมูแพง"

18 มกราคม 2565

นักวิชาการ ม.เกษตรฯ เปิดโปงวิกฤตโรคระบาดทำหมูแพง-ระบบเศรษฐกิจเสียหาย 1.5 แสนล้าน และข้อเสนอทางแก้ปัญหาคนเลี้ยงหมู

เรื่อง : ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

"หมูแพง" กำลังเป็นหนึ่งวิกฤตปากท้องคนไทย ณ ตอนนี้  คณะเศรษฐศาสตร์และคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงร่วมกันจัดเวทีเสวนาเพื่อให้ข้อมูลทางวิชาการถึงสถานการณ์และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาราคาหมู

วิกฤต "หมู" ทำระบบเศรษฐกิจไทยเสียหาย 1.5 แสนล้าน

ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ฉายภาพสาเหตุหมูแพง ว่า จากข้อมูลเดิมประเทศไทยสามารถผลิตสุกรได้ 20-22 ล้านตัวต่อปี แต่วิกฤตโรคระบาดทำสุกรหายไปจากระบบมากกว่า 8 ล้านตัว นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้ราคาหน้าฟาร์มตั้งแต่ช่วงต้นปีเพิ่มขึ้น ฉะนั้นเมื่อกำลังการผลิตอยู่ที่ 10-12.5 ล้านตัว แต่ความต้องการเนื้อสุกรมีประมาณ 17 ล้านตัวจึงไม่พอต่อความต้องการ

สำหรับสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่า ส่งผลความเสียหายทางมูลค่าเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท

ขณะที่ ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์อธิบายถึงโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ว่า เป็นโรคที่มีการพบเจอกันมากว่าร้อยปีตั้งแต่ปี 1907 และตอนนี้มี 33 ประเทศ ที่พบการระบาดของโรค ส่วนประเทศไทยพบเมื่อปี 2564 ผลกระทบด้านการบริโภคไม่น่ากังวล และไม่ทำให้ป่วย แต่การบริโภคควรกินแบบปรุงสุกด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 80 องศา ในระยะเวลา 15 นาทีขึ้นไป

ส่วนสถานการณ์การผลิตในประเทศไทย ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ คาดว่า จะสามากลับมาเป็นปกติอย่างเร็วสุดประมาณ ปีครึ่ง ถึง 2 ปี เนื่องจากหากต้องการเพิ่มสุกรขุน 1 ตัว เพื่อนำมาเป็นแม่พันธุ์ต้องใช้ระยะเวลาราว 10-12 เดือน

นำเข้า "หมู EU" ทางแก้เร่งด่วน

ผศ.ดร.เออวดี เปรมัษเฐียร ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มองว่า หากรัฐบาลไม่แก้ปัญหาด้วยการนำเข้าเนื้อหมู และยังปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ภายในระยะเวลา 8 เดือนราคาอาจปรับสูงขึ้นถึง300 บาทต่อกิโลกรัม และจะลุกลามไปยังโปรตีนชนิดอื่นๆ อาทิ เนื้อไก่ เนื้อโค และอาหารทะเล

หรือหากรัฐบาลเข้าไปตรึงราคา ข้อดีแม้มันจะทำให้ราคาไม่ปรับสูงขึ้น แต่รัฐต้องใช้เงินราว 1.5 พันล้านบาทต่อเดือนและสามารถบรรเทาผลกระทบได้เพียงระยะสั้นเท่านั่น แต่ช่วงกลางปี 2565 ก็คิดว่าถึงอย่างไรราคาหมูก็อาจแตะ 280 บาทต่อกิโลกรัม อยู่ดี

ฉะนั้นทางแก้ในระยะสั้นคือ การนำเข้าเพื่อมาชดเชยในสิ่งที่ขาดไป

ผศ.ดร.ณัฐพล พจนาประเสริฐ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวเสริมว่า แต่การนำเข้าเนื้อหมูก็ควรดำเนินการอย่างเหมาะสม เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อเกษตรกรในประเทศ

โดยนโยบายการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภคในประเทศ ควรนำเข้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ซึ่งตอนนี้มี สหรัฐ บราซิล แคนาดา และสหภาพยุโรป (อียู)

แต่หากถามว่านำเข้าจากประเทศไหนดี อ.ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร เสนอว่า ควรนำเข้าจาก อียูเนื่องจากตอนนี้ราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ 70-90 บาทต่อกิโลกรัม และหากรวมค่าต้นทุนอื่นๆ อาทิ ขนส่ง ภาษี ค่าธรรมเนียมปศุสัตว์ การตลาด ฯลฯ. ราคาขายจะอยู่ที่ราคา 170-200 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถูกกว่าราคาในประเทศตอนนี้

แต่ถึงอย่างไรการนำเข้าข้อดีคือ การแก้ปัญหาราคาไม่ให้สูงเกินไปและทดแทนการขาดแคลน แต่ข้อเสียคือ ถ้าปล่อยให้นำเข้าระยะยาวโดยที่ไม่มีการปรับปรุงเกษตรกรในประเทศ ก็จะทำให้เกษตรกรไทยไม่สามารถกลับมาแข่งขันปกติฉะนั้นควรดำเนินการจนถึงปรับหาเริ่มคลี่คลาย

ดร.สุวรรณา กล่าวเสริมต่อว่า การนำเข้าจากพื้นที่ดังกล่าว ควรมาจากพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดของโรค ประกอบกับอียูมีข้อกำหนดในเรื่องไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง จึงเหมาะสม แต่หากจะดำเนินการรัฐต้องอนุมัติ และต้องมีความพร้อมในเรื่องตู้เย็นที่สามารถรองรับได้

ทางแก้ ปัญหาหมู อนาคต

ดร.สุวรรณา เสนอว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยควรดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรให้พร้อมรับทุกวิกฤต

ขณะที่  อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ฯ แนะนำว่า ไทยควรจะต้องปรับระบบโครงสร้างของฟาร์มเพื่อป้องกันโรคระบาด และต้องหาทางรับมือ อาทิ จัดโครงสร้างวัคซีนให้ตอบสนองกับโรคที่เกิดขึ้น เพราะคาดว่าครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย