posttoday

"หมอธีระ" อัพเดต ข้อมูล"โอมิครอน" เตือน นโยบายลดวันกักตัว ต้องรอบคอบ

15 มกราคม 2565

"รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์" อัพเดต ข้อมูล โอมิครอน เตือน นโยบายลดวันกักตัว คิดให้รอบคอบ ชี้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เปรียบเหมือนตีตั๋วขึ้นรถไฟ ที่มีขาไป แต่ไม่มีขากลับ

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ทะลุ 323 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,842,673 คน ตายเพิ่ม 6,834 คน รวมแล้วติดไปรวม 323,636,970 คน เสียชีวิตรวม 5,545,943 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี และสเปน

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 73.95 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 88.49

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 42.19 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 44.01

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 9 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...อัพเดต Omicron

UK HSA ออกรายงาน Technical briefing ฉบับที่ 34 เมื่อวานนี้ 14 January 2022 มีสาระสำคัญหลายเรื่อง

หนึ่ง "อาการของคนติดเชื้อ Omicron"

ผู้ติดเชื้อ Omicron จะมีอาการที่แตกต่างจากสายพันธุ์เดลต้า

อาการที่มักได้รับการรายงานจากคนที่เป็น Omicron มากกว่าคือ เจ็บคอ ไข้ ไอ ท้องเสีย และปวดกล้ามเนื้อปวดข้อ

สอง "การฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA อย่าง Pfizer และ Moderna นั้นมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการจาก Omicron"

ยิ่งหากสองเข็มแรกได้รับเป็น mRNA vaccines ประสิทธิภาพหลังได้รับเข็มกระตุ้นจะสูงกว่าการได้รับสองเข็มแรกเป็น AZ

ทั้งนี้การฉีดเข็มกระตุ้นด้วย Moderna ดูจะได้ประสิทธิภาพดีกว่า หากสองเข็มแรกได้ AZ หรือ Pfizer

...มองสถานการณ์

หลายประเทศเริ่มเห็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในการทำงาน เนื่องจากติดเชื้อกันมาก จนบางประเทศออกนโยบายลดวันกักตัวเพื่อให้ระบบทำงานต่อไปได้ แลกกับความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น โดยมองว่าปัจจุบันติดกันมากเกินกว่าจะห้ามได้ หรือยังไงก็ไม่ร้ายไปกว่าที่เป็น และอัตราป่วยรุนแรงและอัตราตายต่ำกว่าเดลต้า

สองเรื่องสำคัญที่จะกลายเป็นบิลตามมาเรียกเก็บภายหลังจากการประกาศนโยบายลักษณะข้างต้นคือ

หนึ่ง ประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและเยาวชน รวมถึงกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน รับไม่ครบ และยังไม่ได้เข็มกระตุ้น ก็จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น ป่วยได้ ตายได้

สอง ทุกช่วงวัย และทุกกลุ่ม ที่ติดเชื้อ จะเสี่ยงต่อการมีอาการคงค้างระยะยาว หรือ Long COVID ได้ และจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันทั้งในบ้าน ที่ทำงาน และอื่นๆ ผลกระทบข้อนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า Omicron จะมีภาวะ Long COVID มากกว่า เท่ากับ หรือน้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา ซึ่งเคยพบได้ถึง 20-40% เรื่องนี้ก็จะย้อนกลับมาเป็น costs ที่เกิดขึ้นต่อตัวคนติดเชื้อ ครอบครัว และสังคม ทั้งในเรื่องการสูญเสียสมรรถนะทางร่างกาย จิตใจ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่่จะเกิดขึ้น

เรื่องนโยบายจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องคิดให้รอบคอบ ทั้งในเรื่องทิศทางและเงื่อนเวลาในการตัดสินใจทำ เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เปรียบเหมือนตีตั๋วขึ้นรถไฟ ที่มีขาไป แต่ไม่มีขากลับ