posttoday

มท.เร่งลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัดมุ่งสู่เมืองศก.คาร์บอนต่ำ

12 มกราคม 2565

ปลัดมหาดไทยเป็นสักขีพยานลงนาม MOU ขับเคลื่อนการพัฒนาแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด มุ่งสู่เมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำย้ำคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน Change for Good

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการ “พัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด” ระหว่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กับ จ.กาญจนบุรี จ.แพร่ และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการ “นำร่องเพื่อพัฒนากิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกระดับเมืองโดยใช้กลไกตลาดเป็นแรงจูงใจ” ระหว่างองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กับจ.ขอนแก่น จ.กระบี่ โดยมี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นางพงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมในพิธี ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกในจังหวัด และสร้างสรรค์โปรแกรม/แพลตฟอร์มให้ทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อช่วยกันเชิญชวนให้ประชาชนช่วยกันดูแลชุมชน ดูแลท้องถิ่น ดูแลจังหวัดของตนเองให้เป็นจังหวัดต้นแบบ เราตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 2065 มันจะไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าวันนี้เราไม่ทำทันทีดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่ว่า “ให้ทุกประเทศร่วมกันดูแลรักษาโลก เพราะเราทุกคนไม่มี แผนสอง ในเรื่องการรักษา เยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี โลกที่สอง ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว รวมถึงคำกล่าวของนายบัน คี มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ที่กล่าวว่า ต้องทำทันที (Action Now) เราไม่มีแผนสอง เพราะเรามีโลกใบเดียว  เราจึงจะรีรอที่จะทำไม่ได้

มท.เร่งลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัดมุ่งสู่เมืองศก.คาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ เราต้องเสริมกำลังด้วยการทำพร้อมกันทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนได้มีวิถีชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน ชาวมหาดไทย ในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหน้าที่ทำงานรับใช้ประเทศชาติและประชาชนในทุกจังหวัด จะร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก จะทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้บ้าง ส่วนกลางในฐานะหน่วยวิชาการต้องช่วยจังหวัดจำแนกแยกแยะข้อมูลแนวทางการแก้ปัญหา/การใช้ชีวิต ออกมา ว่าตั้งแต่ตื่นนอน กระทั่งการทำมาหากิน ใช้ชีวิตประจำวันประชาชน และองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การคัดแยกขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การทำเกษตรอินทรีย์ การแยกขยะ การปลูกต้นไม้ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Credit) เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องช่วยกัน

นอกจากนี้ ในแง่ของเศรษฐกิจฐานราก ก็มีส่วนช่วยในการลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกให้กับโลกใบนี้ เช่น การณรงค์สวมใส่ผ้าไทย ผ้าทอ ของผู้ประกอบการชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยในการลดการปลดปล่อยคาร์บอน ทำให้เรามีเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้แบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเงินไม่รั่วไหลไปต่างชาติ เพราะในการผลิต เราได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด เรื่องผ้าไทย ภูมิปัญญาอัตลักษณ์ความเป็นไทย ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยพระองค์ไม่สวมใส่ชุดที่ย้อมด้วยสีเคมี ทรงโปรดสีธรรมชาติ ส่งผลทำให้ชาวบ้านผู้ประกอบการเกิดทิฐิมานะในการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติมากขึ้นอีกด้วย รวมถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเรื่องการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ลดรายจ่าย 

“ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนในฐานะพลเมืองของประเทศชาติที่มีความรักและความห่วงใยในเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องช่วยกันในการ Change for Good ให้เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของตนเอง เพื่อรักษาโลกใบเดียวของเราให้อยู่นาน ๆ อยู่คู่กับลูกหลาน ไม่อยากให้สูญสลายหมดสิ้นไปจากโลก ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ มันอยู่ในน้ำมือพวกเราทุกคน” ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว

ด้าน นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้จัดทำโครงการ “พัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด” อย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด วิเคราะห์มาตรการที่สามารถเป็นไปได้ในการลดก๊าซเรือนกระจก และร่วมกับคณะทำงานของจังหวัดในการจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับบริบทของจังหวัด รวมถึงจัดทำชุดข้อมูลก๊าซเรือนกระจกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินของจังหวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์และช่วยสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดได้เป็นอย่างดี