posttoday

กรมคุกแจงอภัยโทษไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคน

09 ธันวาคม 2564

อธิบดีกรมคุก แจงยิบอภัยโทษไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคน หวังจูงใจผู้ต้องขังประพฤติดี พิจารณาตามประเภทคดี-ชั้นนักโทษ คำนึงสัดส่วนโทษตามคำพิพากษา

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงชี้แจงหลักเกณฑ์การอภัยโทษว่า โดยทั่วไปเป็นมาตรการจูงใจผู้ต้องขังการอภัยโทษเป็นการทั่วไปเป็นมาตรการอย่างหนึ่งเพื่อจูงใจให้ผู้ต้องขังมีความประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยของเรือนจำ และพัฒนาพฤตินิสัยให้พร้อมกลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคมต่อไป โดยให้ได้รับการอภัยโทษตามความร้ายแรงของคดีและลดหลั่นตามชั้นของนักโทษเด็ดขาด ซึ่งเป็นไปตามหลักอาชญวิทยาและทัณฑวิทยา รวมถึงเป็นไปตามหลักสากลการอภัยโทษด้วย

สำหรับการอภัยโทษมี 2 รูปแบบ คือ การอภัยโทษเป็นการทั่วไป และการอภัยโทษเฉพาะราย โดยหลักการอภัยโทษทุกครั้งจะแบ่งผู้ต้องขังเป็น 3 ประเภท คือ 1.ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว ได้แก่ ผู้ต้องกักขัง ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติที่เป็นผู้เจ็บป่วย พิการ ชราภาพ นักโทษเด็ดขาดที่เป็นผู้พิการ เจ็บป่วย ชราภาพ หรือได้รับการจำคุกมานานเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และนักโทษที่ได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยจนได้รับการเลื่อนชั้นเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งผู้ที่จะได้รับการอภัยโทษปล่อยตัวต้องเป็นนักโทษชั้นกลางขึ้นไป ไม่เป็นผู้กระทำผิดซ้ำ และไม่เป็นผู้กระทำผิดอาญาร้ายแรง เช่น ปล้น ฆ่า ข่มขืน คดีทุจริต หรือคดียาเสพติด

กรมคุกแจงอภัยโทษไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคน

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า โดยผู้ที่ได้รับการพิจารณาอภัยโทษลดโทษ จะแบ่งเป็น 4 กลุ่มตามความร้ายแรงของประเภทคดี และได้รับการลดโทษตามชั้นของนักโทษเด็ดขาด โดยกลุ่มคดีอาญาทั่วไป ผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมจะได้รับการลดโทษ 1 ใน 2 ผู้ต้องขังชั้นกลางจะได้ลดโทษ 1 ใน 5 สำหรับคดีอาญาร้ายแรงตามบัญชีแนบท้ายของพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมจะได้ลดโทษ 1 ใน 3 ผู้ต้องขังชั้นกลางจะได้ลดโทษ 1 ใน 6 ส่วนคดียาเสพติดรายย่อย ผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมจะได้ลดโทษ 1 ใน 5 ผู้ต้องขังชั้นกลางจะได้รับการลดโทษ 1 ใน 8 และคดียาเสพติดรายใหญ่ ผู้ต้องขังจะต้องได้รับโทษมาแล้วระยะหนึ่งและไม่ได้รับการอภัยโทษในครั้งแรก ซึ่งผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมจะได้รับการลดโทษ 1 ใน 6 ผู้ต้องขังชั้นกลาง 1 ใน 9 3.ผู้ที่ไม่ได้รับการอภัยโทษ มี 4 กลุ่ม คือ นักโทษเด็ดขาดประหารชีวิตที่ได้รับการลดโทษไปแล้ว คดียาเสพติดรายใหญ่ที่ได้รับโทษจำคุกมาไม่นาน ผู้ทำผิดซ้ำที่ไม่ใช่นักโทษเด็ดขาดหรือชั้นเยี่ยม และกลุ่มนักโทษชั้นต้องปรับปรุงหรือปรับปรุงมาก หรือกระทำผิดอาญาร้ายแรง เช่น ฆ่าข่มขืน หรือกระทำผิดวินัยได้รับการปรับลดชั้นนักโทษ

“การตรากฎหมาย กรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมได้คำนึงถึงสัดส่วนการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งกรมราชทัณฑ์มีการเสนอหลักการใหม่ในส่วนผู้ต้องขังที่ได้รับการพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษจำคุก จากเดิมปล่อยตัวทุกกรณี เป็นให้ได้รับการลดโทษที่เหลืออยู่และลดระยะเวลาคุมประพฤติลงกึ่งหนึ่ง ยกเว้นผู้เจ็บป่วย พิการ ชราภาพ ให้ได้รับการปล่อยตัวไปเช่นเดียวกับนักโทษเด็ดขาด และขอให้เชื่อมั่นการบริหารงานราชทัณฑ์เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบกฎหมาย ที่จะให้ดูแลผู้ต้องขังทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกฏิบัติหรือให้สิทธิ์ประโยชน์ต่อผู้ต้องขังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และพร้อมให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดที่กลับตัวเป็นคนดีของสังคม” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว