posttoday

ดีอีเอส เผยยอดแจ้งข่าวปลอมพุ่ง ไลน์-ทวิตเตอร์แซงหน้าเฟซบุ๊ก

27 พฤศจิกายน 2564

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เผย ประชาชนแจ้งเบาะแสข้อความที่ต้องตรวจสอบผ่านช่องทางโซเชียลเพิ่มขึ้น โดยไลน์และทวิตเตอร์ ยอดแจ้งแซงหน้าเฟซบุ๊ก

นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 19 - 25 พ.ย. 64 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบข้อความที่เข้ามาจำนวน 11,687,258 ข้อความ โดยจากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 250 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 118 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด 29 เรื่อง

สำหรับจำนวนข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 11,687,258 ข้อความ ซึ่งมีข้อความที่ต้องดำเนินการคัดกรอง รวบรวมจากช่องทาง Social Listening Tool จำนวน 11,682,144 ข้อความ และจากเบาะแสผ่านช่องทางโซเชียลและเว็บไซต์ของศูนย์ฯ ดังนี้ ไลน์ 4,208 ข้อความ ทวิตเตอร์ 750 ข้อความ เฟซบุ๊ก 118 ข้อความ และเว็บไซต์ 38 ข้อความ

ขณะที่ จากการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริง ล่าสุดได้รับผลการตรวจสอบแล้ว 57 เรื่อง พบว่าเป็นข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนจำนวน 19 เรื่อง โดยข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 3 อันดับแรก ในรอบสัปดาห์ล่าสุดนี้ ได้แก่ อันดับ 1 โรคงูสวัด หากขึ้นวนรอบตัวจะทำให้เสียชีวิต อันดับ 2 รถกระบะตำรวจ ค่าเช่าเดือนละ 48,000 บาท และอันดับ 3 ผลิตภัณฑ์ Nasaleze Travel สเปรย์พ่นจมูกแบบผง ช่วยป้องกันไวรัสไม่ให้เข้าสู่เยื่อบุโพรงจมูก และปอด

“จากข้อมูลเชิงลึกของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบความน่าสนใจว่าในส่วนของช่องทางรับแจ้งเบาะแสที่เป็นบัญชีโซเชียลทางการของศูนย์ฯ ช่องทางไลน์และทวิตเตอร์ เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมที่ประชาชนส่งข้อมูลเบาะแสมาให้เราแม้ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่มีจำนวนผู้ใช้งานน้อยกว่าเฟซบุ๊ก” นายเนวินธุ์กล่าว

นายเนวินธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากจำนวนการแจ้งเบาะแสจากประชาชนที่เข้ามาผ่านช่องทางโซเชียลของศูนย์ฯมากขึ้น ทั้งไลน์ ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ตอกย้ำว่าประชาชน เป็นภาคส่วนสำคัญในการร่วมกันทำงานกับรัฐเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาการแพร่กระจายข่าวปลอม ทั้งนี้ เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ขอให้ตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อเลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์@antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87