posttoday

สธ.จับตา 13 จว.ยอดติดโควิดพุ่งเกิน 100 ราย/วัน

20 พฤศจิกายน 2564

กระทรวงสาธารณสุข เผย มี 13 จังหวัดต้องจับตา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 100 รายต่อวัน ย้ำเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เร่ง 3 มาตรการนำประชาชนฉีดวัคซีนตามเป้า 100 ล้านโดสในเดือนพ.ย.

นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19 เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 64 มีผู้ป่วยรักษาหาย 7,655 รายผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,855 ราย เสียชีวิต 55 ราย ผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 100 ราย มากกว่า 2 สัปดาห์ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบและต้องใช้ท่อช่วยหายใจมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ พบจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น 13 จังหวัด เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อสูงกว่า 100 ราย ได้แก่ สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ขอนแก่น สระแก้ว นครราชสีมา สระบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ได้เร่งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ดำเนินการ 3 มาตรการ ได้แก่ 1)ให้หน่วยงานชุมชน ท้องถิ่นต่างๆ สำรวจประชาชนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ให้ได้รับการฉีดอย่างทั่วถึง 2)ให้หน่วยบริการ โรงพยาบาล อำนวยความสะดวกแก่ผู้มารับการฉีด 3)ให้ผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน นอกจากนี้ ได้ย้ำการฉีดวัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวเพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนและผู้เดินทางมาในพื้นที่เพื่อให้ประเทศกลับสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประชาชนดำเนินชีวิตในภาวะปกติได้โดยเร็ว

“ขอย้ำว่าวัคซีนปลอดภัยสูง และทุกพื้นที่ระบบการฉีดวัคซีนมีความพร้อม ขอให้ประชาชนมั่นใจเช่น อาการแพ้รุนแรง จะมีโอกาสเกิดขึ้นช่วง 30 นาทีแรก จึงกำหนดให้พักสังเกตอาการก่อนให้กลับ ส่วนอาการปวดเจ็บ กล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ที่เกิดขึ้นใน 7 วัน ส่วนใหญ่หายได้เอง แม้แต่อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่มีรายงานในเด็กนักเรียนบ้าง ก็เป็นอัตราที่ต่ำกว่าต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักภายหลังการฉีด” นายแพทย์เฉวตสรร กล่าว

ทั้งนี้ ภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 18 พฤศจิกายน 2564 สะสม 87,654,904 โดส ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 46,248,417 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 38,421,936 ราย และเข็ม 3 จำนวน 2,984,551 ราย

ด้านนายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา โฆษกกรมอนามัย กล่าวถึงความก้าวหน้าการป้องกันโควิด 19 ในหญิงตั้งครรภ์และทารก ตั้งแต่ 1 เมษายน – 12 พฤศจิกายน พบผู้ติดเชื้อที่เป็นสตรีมีครรภ์ 5,516 รายส่วนใหญ่พบใน กทม. ปริมณฑลและภาคใต้ ในจำนวนนี้คลอดแล้ว 3,127 ราย คิดเป็นร้อยละ 53 ส่วนใหญ่ผ่าตัดคลอด ทารกที่คลอดติดเชื้อ 238 ราย ส่วนใหญ่ติดจากการสัมผัสโดยตรงหลังคลอด คิดเป็นร้อยละ 7 มีมารดาเสียชีวิต 102 ราย และทารกเสียชีวิตตามมารดา 51 ราย ส่วนการฉีดวัคซีนในสตรีมีครรภ์ เข็มแรกฉีดแล้วจำนวน 86,602 ราย เข็ม 2 จำนวน 66,784 และเข็ม 3 จำนวน 1,009 ราย ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า สตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อกว่าร้อยละ 92 ไม่ได้รับวัคซีน และไม่พบการเสียชีวิตในสตรีมีครรภ์ที่ได้รับวัคซีน ครบ 2 เข็ม แต่มีอาการป่วยเล็กน้อยเตรียมเร่งฉีดเชิงรุกแก่หญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและบุคคลในครอบครัวเพื่อป้องกันการรับและแพร่เชื้อ