posttoday

ระดมสมองแก้ปมการขึ้นทะเบียนเรียกรถผ่านแอปฯล่าช้า

15 พฤศจิกายน 2564

กรมการขนส่งทางบกผนึกกำลังพรรคภูมิใจไทยและภาคเอกชนระดมสมองเพื่อเร่งแก้ปมการขึ้นทะเบียนเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันล่าช้า

กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กระทรวงคมนาคม ผนึกกำลังภาคเอกชนจัดงานเสวนา “อนาคต Ride Hailing หลังไทยเปิดประเทศ เพื่อขับเคลื่อน Thailand 4.0” เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมถึงลดปัญหาและอุปสรรคของการให้ “บริการเรียกรถยนต์โดยสารผ่านแอปพลิเคชัน” หรือ Ride Hailing เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยมี ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการดำเนินงานในมิติต่า งๆ ประกอบด้วย ดร.ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), นายจักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก, ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. พรรคภูมิใจไทย และ นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหาร แกร็บ ประเทศไทย ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น

ดร.ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ ผู้แทนจาก depa กล่าวว่า แนวคิดของ Ride Hailing เป็นส่วนหนึ่งของโมเดล “เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน” หรือ Sharing Economy ที่สอดรับกับกระแสสังคมโลกยุคใหม่ ซึ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด และ depa ก็พร้อมให้การส่งเสริมและสนับสนุน เพราะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะผลักดันและกระตุ้นให้ประเทศไทยก้าวสู่ภาวะเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งคาดว่าปริมาณความต้องการเรียกรถผ่านแอปฯจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้ เมื่อทุกอย่างได้ดำเนินการไปตามกฎหมายของภาครัฐ ทั้งนี้ มีหลายประเทศได้นำแนวทางของ Ride Hailing มาใช้ และกำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณร้อยละ 20 ของ GDP ดังนั้น การผลักดันให้เกิด Ride Hailing ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่เพียงจะอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว แต่ยังช่วยให้คนขับในจังหวัดท่องเที่ยวนั้นๆ มีรายได้ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่นตัวเองได้อีกด้าน

ด้าน ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งเป็นเจ้าของนโยบาย Ride Hailing กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยได้หารือกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มาตลอด ทราบว่า กระทรวงคมนาคมเองได้เร่งดำเนินโครงการนี้จนมีความคืบหน้าในระดับที่น่าพอใจแล้ว เมื่อเกิดปัญหาในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนฯของ ขบ. ตนก็จะช่วยประสานไปยัง รมว.คมนาคม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวทำได้โดยเร็ว เนื่องจากโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญของพรรค ที่ได้รับกระแสการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขในทันที หากยังมีประเด็นปัญหาและอุปสรรคอื่นใดที่จะทำให้โครงการเกิดความล่าช้า พรรคภูมิใจไทยก็พร้อมจะประสานงานกับกระทรวงคมนาคม เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้

?“นอกจากนี้พรรคภูมิใจไทยจะเร่งหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยผลักดันให้ผู้ขับขี่ในกลุ่ม Ride Hailing ได้ “อัพสกิล” (เพิ่มทักษะ) จากเดิมที่เป็นแค่ผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสารธารณะ อาจจะยกระดับขึ้นเป็น “ไกด์” แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้โดยสาร เพื่อการต่อยอดอาชีพและสร้างรายได้ใหม่ ซหากภารกิจนี้ ภาคเอกชนไม่ทำก็ต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องลงมาดำเนินการในทันที” ดร.สิริพงศ์ กล่าว

นายจักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้แทน กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ที่ผ่านมามา กรมฯได้เร่งดำเนินการออกอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องจำนวน 5 ฉบับ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2564 เป้าหมายเพื่อจะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป นั่นคือ การพิจารณาหลักเกณฑ์ที่กำหนดและพิจารณาให้การรับรองระบบแอปพลิเคชัน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดให้ผู้สนใจจะประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันมาขึ้นทะเบียนฯ แต่เพราะยังติดในเรื่องขั้นตอนและวีธีการที่ใช้เวลานาน ที่กลายเป็นปัญหาคอขวด นั่นคือ การทำใบขับขี่สาธารณะ, การตรวจประวัติอาชญากรรม และการสแกนลายนิ้วมือ ซึ่งจำเป็นจะต้องเร่งหาทางแก้ไขเพื่อลดปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุดโดยขณะนี้

ทั้งนี้ กรมฯกำลังพัฒนาระบบอบรมออนไลน์ เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ก่อนจะเดินทางมาสอบใบขับขี่ฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ทันภายในสิ้นปีนี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ที่สนใจ แต่ระหว่างนี้ ผู้สนใจสามารถจะดำเนินการในขั้นตอนอื่นๆ ควบคู่กันไปได้ เช่น ตรวจประวัติอาชญากรรม ก่อนนำรถยนต์ป้ายดำมาขึ้นทะเบียนฯที่กรมขนส่งฯ เชื่อว่าปัญหาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และทำให้การจัดอบรมฯเกิดขึ้นไม่ได้ในช่วงก่อนหน้านี้จะเบาบางลง และทำให้กระบวนการต่างๆ เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วขณะที่ ตัวแทนภาคเอกชน

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการบริหารจาก “แกร็บ ประเทศไทย” หนึ่งในแพลตฟอร์มผู้ให้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน กล่าวว่า Ride Hailing จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพเสริม ให้กับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ทั่วประเทศหลายแสนคน คาดว่าจะสร้างมูลค่าตลาดประมาณ 1.2 แสนล้านบาทต่อปีในอีก 3 ปีข้างหน้า และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะแอปพลิเคชันมีระบบแปลภาษาเพื่อช่วยให้คนขับสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ง่ายขึ้น มีการแสดงราคาล่วงหน้าก่อนให้บริการซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว และที่สำคัญคือมีระบบการให้คะแนนคนขับ ซึ่งช่วยรักษามาตรฐานการให้บริการโดยรวมของทั้งอุตสาหกรรมได้

“ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เราจึงต้องไปลงทะเบียนแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกันก็ต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สนใจนับแสนคนเข้าสู่ระบบได้ ดังนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องมาหารือเพื่อออกแบบกระบวนการร่วมกัน หากเป็นไปได้ บริษัทฯ อยากเสนอให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องขั้นตอนและการจัดการแบบพิเศษ ที่สามารถรองรับปริมาณของผู้ที่สนใจจำนวนมากในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้” นายวรฉัตรกล่าว