posttoday

10ข่าวสิ่งแวดล้อมเด่นปี53

25 ธันวาคม 2553

ชมรมผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมคัดเลือก 10 อันดับข่าวเด่นด้านสิ่งแวดล้อม ชี้พบการต่อสู้ของชุมชนต่อนโยบายของรัฐและโครงการของเอกชนเข้มข้น-ความถี่ในการเกิดภัยธรรมชาติก็บ่อยขึ้น        

ชมรมผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมคัดเลือก 10 อันดับข่าวเด่นด้านสิ่งแวดล้อม ชี้พบการต่อสู้ของชุมชนต่อนโยบายของรัฐและโครงการของเอกชนเข้มข้น-ความถี่ในการเกิดภัยธรรมชาติก็บ่อยขึ้น        

ชมรมผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้คัดเลือก 10 ข่าวเด่นด้านสิ่งแวดล้อมในรอบปี 2553 เพื่อเป็น แนวทางสำหรับผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไปในการติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปี 2554 ด้วย

1.อุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ทำปลัดกระทรวงรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)เสียชีวิต    

ถือเป็นข่าวใหญ่ในแง่ความสูญเสียบุคลากรทางด้านสิ่งแวดล้อมในรอบปี 2553 กรณีนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช   ทส.พร้อมคณะรวม 5 ชีวิตประสบอุบัติเหตุเฮลิคอป เตอร์ตกเมื่อวันที่  17 ส.ค. ที่ อ.นาหมื่น จ.น่าน ระหว่างจะไปปฏิบัติภารกิจโครงการปิดทองหลังพระ  ถือเป็นการสูญเสีย ผู้วางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมตลอด 30 ปี ของชีวิตข้าราชการและเป็นที่ยอมรับของเวทีนานาชาติ

2.มาตรา 67 วรรค 2 ในกฏหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหามลพิษมาบตาพุด และพื้นที่ ที่มีปัญหามลพิษอื่นๆ

ตลอด 3 ปี วิกฤติมลพิษมาบตาพุด จ.ระยอง ยังไม่เห็นทางออก แม้จะมีการตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67วรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2550โดยจัดตั้งคณะกรรมการองค์การอิสระ(ชั่วคราว)และทำบัญชี 11โครงการที่เข้าข่ายรุนแรงและออกมาแล้วเสร็จ แต่เอาเข้าจริงๆผลการตัดสินของศาลเมื่อ 2 กันยายน ปรากฎว่าทั้ง 65 โครงการก็หลุดออกจากความเป็นโครงการรุนแรงก็หลุดรอดหมด

3.น้ำท่วม

10ข่าวสิ่งแวดล้อมเด่นปี53

จะเป็นเพราะ อากาศวิปริตปริมาณฝนมากผิดปกติ หรือระบบการจัดการน้ำในประเทศยังอ่อนแอหาเจ้าภาพที่แท้จริงไม่ได้ ปี 2553 จึงเกิดวิกฤตน้ำท่วมอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่ภาคกลางในพื้นที่เดิมๆคือ อยุธยา อ่างทอง ลามไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ กระทั่งมีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นคือ สื่อยักษ์ใหญ่หลายแขนง ออกมาทำหน้าที่เป็นสื่อกลางรับบริจาคจากประชาชน เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ได้รับทั้งเสียงวิจารณ์ว่าทำเกินหน้าที่ และคำชมว่าทำงานเร็วกว่าภาครัฐ

4.วิกฤตแม่น้ำโขง

ตั้งแต่ต้นปี แม่น้ำโขง เกิดลดระดับลงมาอย่างรวดเร็ว มีเกาะแก่งโผล่ขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ชาวบ้านและชาวประมงที่อาศัยแม่น้ำดังกล่าวในการดำรงชีวิตได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เมื่อมีการพูดและร้องเรียนเรื่องนี้กันหนาหูขึ้น จู่ๆระดับน้ำก็เพิ่มขึ้นมาบ้างแบบไม่มีเหตุปัจจัยใดๆทางธรรมชาติ เช่น ฝนตก ชาวบ้านและนักวิชาการจึงตั้งข้อสงสัยกันว่า สาเหตุของการเพิ่ม และลดลงของแม่น้ำโขงนั้นเกิดจากการสร้างเขื่อนในประเทศจีน อย่างไรก็ตามสถานฑูตจีนก็ได้ออกมาปฏิเสธคำกล่าวหาดังกล่าว โดยอ้างว่า เป็นเพราะความแห้งแล้ง ไม่ได้มาจากการปิดเปิดประตูน้ำเขื่อนแต่อย่างใด

5.ปะการังฟอกขาว 

ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว ครั้งรุนแรงในรอบ 10 ปี  เนื่องจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลมีสูงขึ้นผิดปกติ ในช่วงมีนาคม ถึงเมษายน จนส่งให้แนวปะการังทั่วโลก รวมทั้งแนวปะการังของไทยในฝั่งอันดามัน ตั้งแต่หมู่เกาะสุรินทร์ และสิมิลัน จ.พังงา จ.ภูเก็ต รวมทั้งฝั่งอ่าวไทย ที่เกิดการฟอกขาวและตายลงมากกว่า 70% นักวิชาการ ถึงกับออกมาเรียกร้องให้ปิดกิจกรรมดำน้ำ เพื่อลดการรบกวน และให้ปะการังฟื้นฟูตัวเอง 

6.ถนนขึ้นเขาใหญ่ 

ปัญหาคาราคาซังระหว่างหน่วยงานราชการ ที่มักจะถืออภิสิทธิกันและกันบวกกับความคุ้นชิน จนเกิดปัญหาการขยายถนนธนะรัชต์ เส้นทางที่จะขึ้นสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พื้นที่มรดกโลก โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ ที่กรมทางหลวงจะต้องขออนุญาตก่อนเข้าไปดำเนินการอะไรก็ตาม แต่กรมป่าไม้ยังไม่ทันอนุญาตกรมทางหลวงก็เขาไปดำเนินการขยายถนนจาก 2 เลน เป็น 4 เสียก่อน มีการตัดต้นไม้สองข้างทางเสียเหี้ยนเกรียน สร้างความสะเทือนใจแก่สังคมอย่างยิ่ง

ล่าสุด ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีตัดถนนขึ้นใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งสรุปว่า กรมทางหลวงมีความผิดจริงเพราะไม่ขออนุญาตในการขยายถนน ซึ่งระเบียบกรมป่าไม้ได้มอบอำนาจไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่กรมทางหลวงไม่ได้ขออนุญาตก่อนตัด ล่าสุดจะส่งเรื่องนี้ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา

7.ที่ดินนักการเมือง บนเกาะสมุย

ประเด็นที่ดินเขาแพง เกาะสมุย เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเรื่องการบุกรุกครอบครองที่ดินโดยมิชอบของกลุ่มนักการเมือง นักการเมืองใหญ่ใช้ลูกชายมาเป็นนอมินีถือครองที่ดิน ขณะที่ ขั้นตอนการออกเอกสารสิทธิการถือครองที่ดินมิชอบโดยกฏหมาย  เอาที่สาธารณะมาเป็นที่ของตัวเอง ล่าสุดกรรมาธิการการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทน ได้สรุปว่า นักการเมืองผิดจริง และส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ดำเนินการ

8.เถาวัลย์รุกป่า 

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต้องเผชิญกับ การรุกรานของเถาวัลย์ในพื้นที่ป่า ประมาณ 3 แสนกว่าไร่ จากพื้นที่ป่าทั้งหมด 1.8 ล้านไร่ ส่งผลให้ไม้ใหญ่ยืนต้นตายจำนวนมาก รวมทั้งสัตว์ป่าเช่น ช้าง กวาง ต้องอพยพย้ายที่อยู่ เพราะพืชอาหาร คือหญ้า ในป่าตายหมด เนื่องจากแดดส่องไม่ถึงพื้น พืชอาหารไม่เจริญเติบโต อีกทั้งยังทำให้การลาดตระเวณป่าของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติเป็นไปด้วยความยากลำบากอีกด้วย ท่ามกลางการถกเถียงของนักวิชาการสองฝ่ายที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า กรณีนี้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือเป็นเรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติตามปกติ

9.ตัดต้นไม้ใหญ่ในเมืองหลวง

ท่ามกลางการรณรงค์เรื่องการปลูกต้นไม้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาโลกร้อน กลุ่มเครือข่ายใน facebook ได้ทำการรณรงค์คัดค้านการตัดต้นไม้ขนาดใหญ่อายุเก่าแก่หลายสิบต้น บนพื้นที่ของเอกชนบริเวณปากซอยสุขุมวิท ๓๕ เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้า ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม สุดท้ายต้นไม้ก็ถูกตัดหมด แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มคนเมืองที่ต้องการการผลักดันให้มีพรบ.คุ้มครองต้นไม้ใหญ่ในเมือง ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

10.ปีเสือ เสือตาย 

ช็อกหัวใจนักอนุรักษ์ เมื่อพบว่าปีเสือดุ กลับมีเสือโคร่งในป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ถูกพรานป่าวางยาเบื่อตายพร้อมกันถึง 3 ตัวในสภาพถูกกลกหนัง ชำแหละเนื้อ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตำรวจทางหลวง เพิ่งจับกุมขบวนการค้าซากชิ้นส่วนเสือโคร่งที่ถูกตัดหัว และลำตัวออกเป็นท่อนๆรวม 4 ชีวิต ระหว่างเตรียมส่งออกไปขายยังประเทศลาวและจีน ซึ่งมีความนิยมเปิบพิสดาร ถึงขณะนี้ยังไม่สามารถจับมือใครดมได้

10ข่าวสิ่งแวดล้อมเด่นปี53

นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่มองเห็นจากการทำข่าวสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา คือ ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเด่นๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีนั้น เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก กล่าวคือ มักจะเกี่ยวข้องกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ, ปัญหาภัยธรรมชาติที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ และผลกระทบจากโครงการของรัฐ 

แต่สิ่งที่ต่างไป คือ ปัญหารุนแรงมากขึ้น การต่อสู้ของชุมชนต่อนโยบายของรัฐและโครงการของเอกชนเข้มข้นขึ้น และความถี่ในการเกิดภัยธรรมชาติก็บ่อยขึ้นจนน่าตกใจ

แม้ว่าสังคมไทยจะมีความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่เห็นได้ชัดว่า ความตื่นตัวนั้นไม่ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในทางนโยบายและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่จะหยุดยั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้