posttoday

ดีอีเอส-กสทช.ยกระดับ จัดการ SMS ผิดกม.

29 ตุลาคม 2564

กระทรวงดีอีเอส-กสทช.ยกระดับมาตรการ จัดการปัญหา SMS ผิดกฎหมาย ผู้ให้บริการต้องระบุ ชื่อผู้ส่งข้อความ

นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีปฎิบัติหน้าที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงผลการประชุมร่วมกับนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และรักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และผู้ประกอบการโทรคมนาคม 9 ราย เกี่ยวกับการติดตามและกำกับดูแลกรณีมิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) ที่ครอบคลุม เอสเอ็มเอสที่มีเนื้อหาในลักษณะหลอกลวง การชักชวนเล่นพนันออนไลน์ และลามกอนาจาร ตลอดจนเอสเอ็มเอสเงินกู้ ซึ่งในประเภทหลังนี้จะมีการประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อตรวจสอบผู้ส่งที่เป็น white list ต่อไป

ทั้งนี้ ผลการหารือในครั้งนี้ จะนำไปสรุปเป็นแนวทางในการดำเนินการและปฎิบัติในเชิงรุกต่อไป โดยเบื้องต้นเตรียมจัดทำข้อกำหนดเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อความ และกำหนดชื่อผู้ส่งข้อความ (sender name) ซึ่งผู้ให้บริการมือถือ ต้องมีระบบยืนยันตัวตนของลูกค้าที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ ข้อความและชื่อผู้ส่งต้องแจ้งผู้ให้บริการทราบก่อน ลูกค้ากำหนดโดยอิสระไม่ได้ ชื่อผู้ส่งต้องไม่เป็นหมายเลขโทรศัพท์ และหาชื่อตรง/คล้ายกับชื่อบริษัทหรือเครื่องหมายการค้า ต้องขอเอกสารในการรับรองหรือยินยอมจากเจ้าของชื่อบริษัท/เครื่องหมายการค้านั้นๆ รวมทั้ง ข้อความไม่ควรมี link เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อการกระทำผิด

นอกจากนี้ ยังหารือถึงแนวปฏิบัติในการรวบรวมข้อมูล และการดำเนินการกรณีพบข้อความผิดกฎหมาย ที่จะใช้ในการดำเนินการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม สอท และ กสทช. ดังนี้ 1.ผู้ให้บริการส่ง sender name ให้สำนักงาน กสทช. รวบรวม 2.หากตำรวจต้องการข้อมูลของผู้ส่งข้อความจาก sender name ที่กระทำผิดกฎหมาย จะได้ประสานสำนักงาน กสทช. เพื่อขอทราบผู้ให้บริการที่เป็นต้นทางดังกล่าว ก่อนออกหมายฯ เพื่อขอข้อมูลของผู้ส่งข้อความ ไปยังผู้ให้บริการ และ 3.สำนักงาน กสทช. จะแจ้งผู้ให้บริการทราบกรณีการขอหมายฯ จากตำรวจเพื่อให้ผู้ให้บริการเตรียมข้อมูล โดยเมื่อผู้ให้บริการได้รับหมายแล้ว จะต้องให้ข้อมูลแก่ตำรวจโดยไม่ชักช้า

สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปเพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ได้แก่ แนวทางการจัดทำ White list sender แนวทางการดำเนินการสำหรับข้อความที่ต้องมีการตรวจสอบเนื้อหา และแนวทางดำเนินการสำหรับข้อความที่เป็นการโฆษณา

นายทศพล กล่าวว่า ปัจจุบันการทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ทำได้สะดวก รวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้มิจฉาชีพใช้ช่องทางเข้าถึงเหยื่อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการส่งข้อความหลอกลวง หรือลิงค์หลอกดูดข้อมูลส่วนตัวเข้ามาทางเอสเอ็มเอสผ่านมือถือ จึงอยากประชาชนรอบคอบ ไม่กดอ่านข้อความหรือคลิกลิงค์จากคนไม่รู้จัก รวมทั้งศึกษาทำความเข้าใจ เพิ่มความระมัดระวังการทำธุรกรรมออนไลน์ หมั่นตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

โดยที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้มีการประสาน กสทช. และผู้ให้บริการมือถือทุกค่าย ให้คอยตรวจสอบผู้ที่มาใช้บริการส่งเอสเอ็มเอสไปถึงประชาชน ว่าธุรกิจมีความถูกต้อง ถูกกฎหมาย หรือมีความเหมาะสมหรือไม่ หากพบว่าเป็นการส่งเอสเอ็มเอสที่ไม่เหมาะสม หรือผิดกฎหมาย ก็ให้บล็อกหรือปิดกั้นทันที ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับหลักการนี้แล้ว

“สำหรับในภาคผู้ประกอบการ และ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลผู้ให้บริการมือถือ ถ้ามีการปล่อยปละละเลยถือว่ามีการกระทำผิด เพราะเอสเอ็มเอสเป็นการส่งกันเองจะไปโทษคนอื่นไม่ได้ต้องรับผิดชอบด้วย จะอ้างว่าเป็นลูกค้ามาใช้บริการแล้วไม่รับผิดชอบเลยไม่ได้ เพราะขั้นตอนในการส่งข้อความดำเนินการผ่านระบบของผู้ให้บริการทุกขั้นตอน ถ้าเอาผิดตามกฎหมายก็ผิดกันหมด” นายทศพลกล่าว

ขณะที่ ในส่วนของประชาชน กรณีพบเอสเอ็มเอสที่ไม่เหมาะสม ให้รีบแจ้งมายัง กสทช. หรือกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อดำเนินการตรวจสอบและปิดกั้นให้เร็วที่สุด ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ก็มีระบบ social listening คอยเฝ้าระวังเช่นกัน