posttoday

มธ.คว้ารางวัลใหญ่ Super AI Engineer ผลิตเครื่องมือช่วยตร.จับคนร้าย

26 ตุลาคม 2564

2 นักศึกษา SIIT ธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลเหรียญทองเหรียญเงินโครงการ Super AI Engineer ช่วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำภาพใบหน้าของผู้ต้องสงสัยคนไทยด้วย AI

สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand: AIAT) ร่วมกับ ศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เครือข่ายสถาบันวิชาการปัญญาประดิษฐ์ เครือข่ายมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนกว่า 60 องค์กร มอบ “รางวัลเหรียญทอง” ผู้ที่มีความสามารถดีเด่น ในโครงการพัฒนาบุคลากรความสามารถพิเศษด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือสุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer) ให้แก่ นายอิษฎา สุขประภา นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาปัญญาประดิษฐ์และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ( AI&IoT-TAIST Tokyo Tech) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และ “รางวัลเหรียญเงิน” ให้แก่ น.ส.รมย์รวินท์ ชุมภู นักศึกษาปริญญาโท สาขา Engineering and Technology SIIT มธ. เช่นเดียวกัน

สำหรับ ผู้ที่ได้รับรางวัล จะต้องผ่านการประเมินจากโครงการ และเข้าร่วมทำงานกับบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทย โดยคะแนนหลักๆ มาจากการประเมินของบริษัทเอกชน ภายหลังผู้เข้าร่วมโครงการได้นำองค์ความรู้ด้าน AI ไปช่วยพัฒนาหรือแก้ไขอุปสรรคของธุรกิจของบริษัทเองชนได้

มธ.คว้ารางวัลใหญ่ Super AI Engineer ผลิตเครื่องมือช่วยตร.จับคนร้าย

นายอิษฎา เปิดเผยว่า โครงการ Super AI Engineer ได้เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจพัฒนาทักษะด้าน AI โดยจะมีการสอนและการสอบ และมีการแบ่งระดับชั้นออกเป็น 3 ระดับ นั่นหมายความว่า หากผู้เข้าร่วมมีคะแนนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะได้รับการประเมินเพื่อเลื่อนระดับชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเมื่อขึ้นไปในระดับที่ 2 แล้ว ก็จะมีบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยเข้ามาร่วมให้โจทย์ ซึ่งเป็นโจทย์ที่กำลังเป็นปัญหาที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่จริง โดยจะให้ผู้เข้าร่วมโครงการจะแบ่งออกเป็นกลุ่ม เพื่อใช้ AI เข้าช่วยแก้ไขปัญหาในแต่ละสัปดาห์ และเมื่อผ่านเข้าสู่ระดับที่ 3 ผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถลงชื่อเพื่อเข้าร่วมทำงานจริงกับบริษัทที่ตนเองสนใจ ตามทักษะที่แต่ละคนถนัด เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การประมวลผลภาพ ฯลฯ ได้

ทั้งนี้ ส่วนตัวมีความถนัดทางด้านการประมวลผลภาษา จึงได้มีโอกาสทำงานกับ MED TECH ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการทำระบบแปลภาษา ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับ Google Translate แต่จะแตกต่างกันตรงภาษาที่แปลออกมาจะมีความเป็นมนุษย์ และธรรมชาติมากกว่า สิ่งที่ตนเองได้เข้าไปร่วมทำคือการจับคำเฉพาะ เพราะประเทศไทยมีคำใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะชื่อหน่วยงานต่างๆ จึงจำเป็นต้องสังเกตและคัดแยกคำเฉพาะเหล่านี้ออกมาให้ AI ได้เรียนรู้ เนื่องจาก AI จะไม่สามารถแปลออกมาได้ หากไม่เคยเห็นคำนั้นมาก่อน โดยก่อนเข้าร่วมโครงการเรารู้เรื่อง AI เพียงพื้นฐาน แต่เมื่อเข้าร่วมไปแล้วก็ช่วยเพิ่มทักษะมากยิ่งขึ้น และสามารถกลับมาต่อยอดทักษะเดิมให้กลายเป็นทักษะใหม่ได้อีกด้วย ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยยังขาดแรงงานทางด้าน AI เยอะมาก การเข้าร่วมโครงการยิ่งทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมในด้านนี้ยังขาดอะไร มีทักษะใดที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหา และความต้องการของอุตสาหกรรมได้บ้าง

ด้าน น.ส.รมย์รวินท์ กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการในช่วงแรกนั้นจำเป็นต้องกลับไปศึกษา ทบทวนความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ใหม่ เนื่องจากไม่เคยเรียนมาก่อน แต่ก็แก้ปัญหาด้วยการสอบถามทั้งเพื่อนร่วมโครงการไปจนถึงอาจารย์ที่คอยดูแล ตรงนี้จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาและเรียนรู้อย่างรวดเร็ว เพิ่งค้นพบตัวเองตอนเรียนวิศวกรเคมีว่าชอบการเขียนโค้ด เพราะตอนเรียนจะมีอยู่หนึ่งวิชาที่จะต้องเขียนโค้ด เลยพบว่าสนุก และชอบ จึงทำให้มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการนี้ และยังได้เรียนทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ ถ้าไปเรียนข้างนอกจะได้เรียนเพียงแค่สาขาเดียวเท่านั้น

น.ส.รมย์รวินท์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวมีความถนัดด้านการประมวลผลภาพ จึงได้เข้าร่วมงานกับ MED TECH ของ สวทช. ที่ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสร้างภาพใบหน้าของผู้ต้องสงสัยที่เป็นใบหน้าของคนไทย ซึ่งในปัจจุบันทั่วโลกก็จะทำในลักษณะนี้ทั้งหมด เพียงแต่ยังไม่มีภาพหน้าที่เป็นคนไทย ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังพัฒนาระบบ คาดว่าน่าจะส่งให้กับทางสำนักงานตำรวจฯ ได้ใช้ภายในสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า

สำหรับ โครงการ Super AI Engineer ในซีซันแรกในปี 2563 มีผู้สมัครจำนวนมากกว่า 2,059 คน และมีผู้ที่ผ่านการประเมินความสามารถหลังอบรม เป็นกลุ่มเหรียญทอง จำนวน 8 คน เหรียญเงิน 19 คน และเหรียญทองแดง 45 คน