posttoday

ปภ.รายงาน17จังหวัดยังอ่วมน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ

25 ตุลาคม 2564

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานยังมีน้ำท่วมโดยภาพรวมอยู่ 17 จังหวัดส่วนใหญ่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแต่ระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงาอิทธิพลความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่วันที่ 21 – 24 ต.ค.64 ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 11 จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เลย ขอนแก่น กาญจนบุรี ราชบุรี และสุราษฎรานี รวม 27 อำเภอ 59 ตำบล 350 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,159 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ในจังหวัดกาญจนบุรี รวม 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ่อพลอย อำเภอท่าม่วง อำเภอหนองปรือ และอำเภอท่ามะกา รวม 17 ตำบล 145 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,679 ครัวเรือน ภาพรวมระดับน้ำลดลง

ขณะที่ สถานการณ์อุทกภัยจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัด ปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 17 - 19 ต.ค.ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัด  ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,499 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครปฐม และสระแก้ว รวม 29 อำเภอ 117 ตำบล 566 หมู่บ้าน 15,030 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลง

ปภ.รายงาน17จังหวัดยังอ่วมน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ

สำหรับ อิทธิพลพายุ “คมปาซุ” เมื่อวันที่ 15 -17 ต.ค. มีน้ำท่วมในพื้นที่ 6 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี และปราจีนบุรี รวม 5 อำเภอ 9 ตำบล 28 หมู่บ้าน 407 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลงในทุกพื้นที่ ขณะที่ ผลกระทบจากพายุ “เตี้ยนหมู่” เมื่อวันที่ 23 ก.ย. - 7 ต.ค. 2564 ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 33 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี รวม 23 อำเภอ 214 ตำบล 1,048 หมู่บ้าน 67,290 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายในหลายพื้นที่แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ 

ด้าน สถานการณ์อุทกภัยจากน้ำล้นตลิ่งซึ่งเกิดจากฝนตกต่อเนื่องและการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำ ทำให้น้ำในลำน้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 18 – 19 ต.ค. 64 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุทัยธานี และฉะเชิงเทรา ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 2 จังหวัด รวม 4 อำเภอ 15 ตำบล 73 หมู่บ้าน 585 ครัวเรือน ได้แก่ ร้อยเอ็ด พื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทุ่งเขาหลวง และอำเภอเชียงขวัญ รวม 5 ตำบล 38 หมู่บ้าน และ อุทัยธานี พื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลานสัก และอำเภอหนองฉาง รวม 10 ตำบล 35 หมู่บ้าน ภาพรวมสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลง