posttoday

กคช.เร่งเครื่องโครงการเมืองอัจฉริยะเคหะชุมชนดินแดง

21 ตุลาคม 2564

การเคหะแห่งชาติเร่งเครื่องโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ยกระดับชุมชนอัจฉริยะ Smart City นำร่องเคหะชุมชนดินแดงจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเป็นจุดเชื่อมโยงระบบคมนาคม

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติ และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Promotion Agency : DEPA) ได้ร่วมลงนาม “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ยกระดับชุมชนอัจฉริยะ Smart City” เพื่อร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและยกระดับชุมชนอัจฉริยะ Smart City ในชุมชนของ กคช. ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีมาตรฐาน มีความสะดวกสบาย ปลอดภัย และทันสมัย  ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 - 2567) ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อ 17 ส.ค. 2559 ภายใต้วิสัยทัศน์ “The Community of Humanity : Din Daeng Smart Town” เนื่องจากย่านดินแดงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการเป็นจุดเชื่อมโยงระบบคมนาคม จึงมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์กลางย่านพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยบริเวณใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ การกำหนดเขตเมืองอัจฉริยะของโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ประกอบด้วย ทิศเหนือ ถนนวิภาวดีรังสิต ทิศตะวันออก ถนนประชาสงเคราะห์ ทิศตะวันตก ถนนวิภาวดีรังสิต-ถนนดินแดง และทิศใต้  ถนนดินแดง โดยเป้าหมายในการพัฒนาศูนย์กลางเมืองใหม่กรุงเทพมหานคร และส่งเสริมความเป็นย่านที่อาศัยเขตเมืองชั้นในโดยใช้หลัก Urban Renewal และ Compact City ซึ่งลักษณะของเมืองอัจฉริยะประกอบด้วย สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ(Smart Mobility) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) และการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) โดยคณะทำงานจัดทำร่างเกณฑ์ฯ ได้พิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะโครงการเมืองอัจฉริยะเคหะชุมชนดินแดง ในพื้นที่โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง 3 ประเด็นหลักคือสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)

กคช.เร่งเครื่องโครงการเมืองอัจฉริยะเคหะชุมชนดินแดง

สำหรับ ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) มีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงไว้เป็นทรัพยากรอันมีค่า ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน อาทิ การจัดตั้งกลุ่มคัดแยกขยะรีไซเคิลการนำน้ำที่ผ่านการ Recycle มารดน้ำต้นไม้ และการจัดตั้งธนาคารขยะ ทั้งยังมีการดำรงไว้ซึ่งดุลยภาพของธรรมชาติและมีความเหมาะสมกับการอยู่อาศัย การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพของคนในชุมชน โดยการสร้างพื้นที่สีเขียวรอบอาคารและบนอาคาร รวมถึงเพิ่มสวนสาธารณะชุมชน นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการติดตามสภาวะแวดล้อม และข้อเสนอเชิงนวัตกรรมอื่น ๆ ในด้าน Smart Environment อีกด้วย

ขณะที่ การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) มีการเพิ่มและส่งเสริมการเข้าถึงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระบบขนส่งสาธารณะ (Accessibility) อาทิ การจัดให้มีทางลาดและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมทั้งเพิ่มความสะดวกสบาย การใช้สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ(Convenience) การกำหนดจุดรับ-ส่งรถรับจ้างสาธารณะ และการสร้างระบบบริการเรียกรถรับจ้างสาธารณะ นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขนส่งและจราจร (Efficiency) โดยการเพิ่มป้ายและสัญญาณเตือนจุดเสี่ยง รวมถึงการกำหนดจุดจอดรถบริการสาธารณะบริการชุมชน มีการติดตั้งไม้กั้นรถเข้า-ออกและเพิ่มป้ายสัญญาณจราจรในจุดเสี่ยง การส่งเสริมการใช้ยานพาหนะเพื่อลดมลพิษ (Green Mobility) ด้วยการพัฒนาเส้นทางเดินเชื่อมโยงระหว่างอาคาร และมีบริการจุดจอดรถจักรยานยนต์ นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอเชิงนวัตกรรมอื่น ๆ ด้าน Smart Mobility อาทิ พัฒนาระบบทางเลือกการสัญจร เช่น ทางจักรยานชุมชน

กคช.เร่งเครื่องโครงการเมืองอัจฉริยะเคหะชุมชนดินแดง

นายทวีพงษ์ กล่าวว่า การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) ส่งเสริมให้ประชาชนสุขภาพดี (Healthy People) ส่งเสริมสุขอนามัยของประชาชน (Promoting People’s Hygiene) ด้วยการจัดพื้นที่ศูนย์อนามัยชุมชนและจัดพื้นที่กิจกรรมผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีแนวทางเมืองปลอดภัย (Public Safety) จากอาชญากรรม ภัยพิบัติโดยจัดให้มีไฟส่องสว่าง พลังงานแสงอาทิตย์ และจัดระบบกล้องวงจรปิดมีสิ่งอำนวยความสะดวกรอบตัวที่คนทุกวัยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะและมีโอกาสในการมีส่วนร่วม เช่น เพิ่มทางลาดสำหรับผู้พิการ รวมถึงข้อเสนอเชิงนวัตกรรมอื่น ๆ ด้าน Smart Living

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ได้เริ่มการพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 (Smart Community Concept) เพื่อกำหนดรูปแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ สอดคล้องตามโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงกำหนดแนวทางส่งเสริมสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ เพิ่มคุณภาพชีวิตในชุมชนเมือง และจัดทำผังทางเลือกการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะที่สะดวกต่อการสัญจร โดยทั้งหมดนี้เพื่อฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงให้เป็นชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม