posttoday

สปสช.เผยเกณฑ์เยียวยานักเรียนเจอผลข้างเคียงฉีดวัคซีนโควิด

07 ตุลาคม 2564

สปสช. เปิดหลักเกณฑ์เยียวยาให้นักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป กรณีเกิดผลไม่พึงประสงค์ หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ขอยื่นเรื่องรับเงินช่วยเหลือได้ ย้ำรายงานผู้เกิดผลข้างเคียงมีไม่มาก

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับเด็กนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยเป้าหมาย 5,048,000 รายทั่วประเทศ เริ่มต้นฉีดเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 64 เป็นวันแรก โดยเป็นวัคซีนชนิด mRNA ผลิตโดย บริษัท ไฟเซอร์ ร่วมกับ บริษัท ไบโอเอ็นเทค เพื่อเป็นการให้วัคซีนครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มอายุที่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ ลดอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศได้

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา จากข้อมูลระบบการรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ CDC ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะมีรายงานผลข้างเคียงการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ หลังจากการฉีดวัคซีนชนิด mRNA แต่ด้วยจำนวนผู้ที่เกิดผลข้างเคียงนี้มีไม่มากและประโยชน์ที่ได้รับจากฉีดวัคซีนมีมากกว่า ทางองค์การอนามัยโลก รวมถึงราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังคงแนะนำให้เด็กนักเรียนช่วงอายุดังกล่าวเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 นี้

ทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังและไม่ประมาท ที่ผ่านมาคณะทำงานจัดทำแนวทำงานวินิจฉัยและรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการได้รับวัคซีน mRNA ซึ่งประกอบด้วยสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้จัดทำคำแนะนำ “การวินิจฉัยและรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่เกิดภายหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (Guideline for diagnosis and management of myocarditis and pericarditis after COVID-19 mRNA vaccination) ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม 2564

ในคำแนะนำฉบับดังกล่าว ได้ระบุถึงอาการภาวะไม่พึงประสงค์ที่สังเกตคือ มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก รู้สึกเหนื่อย หายใจแล้วรู้สึกเจ็บหน้าอก ใจสั่น เป็นลมหมดสติ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดจุกแน่นท้องบริเวณด้านขวาบน หรือลิ้นปี่ ซึ่งเป็นผลจาก hepatic congestion พบได้ในภาวะ right-sided heart failure ในบางรายอาจมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และตรวจพบค่าโปรตีนโทรโปนิน (troponin) มีระดับสูงขึ้น ทั้งนี้อาการแสดงเหล่านี้มักเกิดเร็วหลังได้รับวัคซิน เฉลี่ยจะแสดงอาการในวันที่ 3-7 หลังจากได้รับวัคซีน ซึ่งหน่วยบริการทั่วประเทศที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มนักเรียน สามารถใช้แนวทางนี้ในการสังเกตอาการเด็กนักเรียนหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วได้

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของเรา แต่หากเกิดขึ้นจำเป็นต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลือความเสียหายที่เกิดขึ้นเบื้องต้นโดยเร็ว ซึ่ง สปสช.โดยการสนับสนุนจากรัฐบาลได้มีการจัดระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกรณีที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังจากการฉีดวัคซีนสามารถขอรับการช่วยเหลือผ่านช่องทางนี้ได้ ซึ่งหลักการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ สปสช.นั้น ไม่ไช่การพิสูจน์ถูกผิดหรือชี้ชัดว่าเป็นผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด แต่เป็นเงินเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชนเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น

ทั้งนี้ หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่สำนักงาน สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย

หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท