posttoday

โพลชี้ยุคโควิดคนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแย่ลง

26 กันยายน 2564

ดุสิตโพลเผยประชาชน 72.78% มองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแย่ลงในยุคโควิด ขณะที่ 68.66%ห่วงภัยออนไลน์มากสุด เหตุจากปัญหาความยากจน ว่างงาน

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผย ผล สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “ภัยสังคมในยุคโควิด-19”กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,172 คน ระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน 2564 พบว่า เมื่อเปรียบเทียบก่อนมีโควิด-19 กับในยุคโควิด-19 ประชาชนคิดว่าความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแย่ลง ร้อยละ 72.78 ค่อนข้างวิตกกังวล ร้อยละ 54.46

ภัยสังคมที่ประชาชนคิดว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ ภัยจากออนไลน์ ร้อยละ 68.66 โดยมองว่าปัญหาภัยสังคมที่มีเพิ่มมากขึ้น เพราะปัญหาความยากจน ว่างงาน ชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก

ร้อยละ 89.31 เคยมีประสบการณ์ประสบกับปัญหาภัยสังคม ร้อยละ 34.17 จากภัยสังคมในปัจจุบันทำให้ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่นลดลง ร้อยละ 65.90 จึงควรเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน ร้อยละ 85.82

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ปัญหา “ภัยสังคม” ในปัจจุบันมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมา ส่งผลให้ประชาชนรู้สึกวิตกกังวลและไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่นลดลง ถึงแม้เดิมคนไทยจะมีลักษณะนิสัยมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นก็ตาม รัฐบาลจึงควรเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งนับว่าเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา รวมไปถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าประชาชนต้องอยู่ในสังคมที่มีภัยรุมเร้ารอบด้าน

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีณัฐ สกุลหอม คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า “ภัยสังคมในยุคโควิด-19” เป็นภัยที่มาในรูปแบบที่หลากหลาย สอดคล้องกับบริบทวิถีชีวิตสังคมในยุคไร้พรมแดน มีต้นเหตุมาจากปัจจัยหลักๆ คือ ปัญหาทางสังคม เช่น การเลิกจ้างงาน รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ความเป็นอยู่ยากลำบาก พฤติกรรมบริโภคนิยม ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมที่พัฒนามาในรูปแบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการแฮกข้อมูล สแกมเมอร์ เฟคนิวส์

ภัยเงียบเหล่านี้เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คุณภาพชีวิตคนไทยต่ำลง ส่งผลให้ชีวิตไม่มีความสุข ซึมเศร้า วิตกกังวล หวาดระแวงจากผู้คนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภัยสังคมที่ต้องเร่งแก้ไข ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัวต้องเข้มแข็ง สถาบันการศึกษาต้องสร้างภูมิคุ้มกันเร่งผลิตวัคซีนเพื่อสร้างหลักสูตร “ทักษะชีวิต”บนฐานรากคุณธรรม ให้กับเยาวชน อย่าลืมว่า “ถ้าผู้ใหญ่เติบโตจากเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาเป็นอย่างดี ปัญหาภัยสังคม อาชญากรรม การทุจริตคอร์รัปชั่น ก็จะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดน้อยลง เป็นการลดปัญหาต่อสังคม ประเทศชาติ”

โพลชี้ยุคโควิดคนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแย่ลง