posttoday

นักวิชาการเสนอปรับภาษีบุหรี่ตามมูลค่า อัตราเดียวที่23%-25%

24 กันยายน 2564

ผู้เชี่ยวชาญ ด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มธ. ชี้ขึ้นภาษีบุหรี่ต้องสมดุลทุกด้านเสนอปรับตามมูลค่าอัตราเดียวที่ 23% - 25%

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  แสดงความเห็นในประเด็นการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตและการปรับอัตราภาษียาสูบครั้งใหม่ที่รัฐบาลจะต้องประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ว่า  จะต้องมีความสมดุลทุกด้านและอัตราภาษีต้องไม่สูงจนเกินไป  ซึ่งการทำให้เกิดความสมดุลตามหลักเศรษฐศาสตร์นั้น สิ่งสำคัญคือ การขึ้นภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไปให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่แล้วจะพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อและรายได้ต่อหัวของประชากร อัตราเงินเฟ้อและรายได้ต่อหัวของไทยในช่วงปี 2560-2564 เพิ่มขึ้นน้อยมากประมาณ 1-2% เพราะระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ดังนั้น การขึ้นภาษีบุหรี่จึงไม่ควรปรับขึ้นมากจนเกินไป เพราะกำลังซื้อที่อ่อนแอจะทำให้เกิดการหันไปบริโภคสินค้าทดแทนที่มีราคาถูกกว่า เช่น ยาเส้นและบุหรี่เถื่อนได้ จนส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลตามมาทั้ง ๆ ที่จำนวนคนสูบไม่ได้ลดลงมากนัก

ทั้งนี้ กรณีรายงานข่าวที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นภาระภาษีบุหรี่ส่งผลให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นซองละ 6-8 บาท ในขณะที่กลุ่มรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นอัตราเดียวที่ร้อยละ 35 และให้ขึ้นภาษีปริมาณจาก 1.2 บาทต่อมวน เป็น 1.3 บาทต่อมวน   ศ.ดร. อรรถกฤต มีความเห็นว่า  กระทรวงการคลังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ เพราะการขึ้นภาษีบุหรี่จาก 20% เป็น 40% เป็นไปได้ยาก เพราะจะเป็นการขึ้นภาษีในคราวเดียวที่สูงเกินไป จึงมีการชะลอการปรับขึ้นภาษีดังกล่าวมา 2 ครั้งแล้ว อีกทั้งปัจจุบันโครงสร้างภาษีตามมูลค่า 2 อัตรา คือ ร้อยละ 20 สำหรับบุหรี่ราคาไม่เกิน 60 บาท และร้อยละ 40  สำหรับบุหรี่ราคาเกิน 60 บาท  ก็ก่อให้เกิดปัญหาการแข่งขันในอุตสาหกรรมยาสูบค่อนข้างมากและไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติที่ดี  ดังนั้น โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จึงต้องมีความสมดุลในทุกด้าน อาทิ ช่วยให้รัฐบรรลุวัตถุประสงค์ด้านรายได้และสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะเกษตรกรยาสูบมากจนเกินไป ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2560 

ถ้าขึ้นราคาซองละ 6-8 บาท ตามที่เป็นข่าว นั่นหมายความว่า ราคาบุหรี่ขายดีในท้องตลาดปรับขึ้น 10-13% ซึ่งถือว่าสูงแล้วในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ และคงส่งผลกระทบไม่น้อยต่อภาคอุตสาหกรรมยาสูบ หากมีการขึ้นเป็นอัตราเดียว 35% และเพิ่มอัตราปริมาณขึ้นตามที่มีบางฝ่ายเสนอก็อาจจะเป็นการขึ้นภาษีที่รุนแรงไม่ต่างจากการขึ้นเป็นอัตราที่ 40% จึงน่าจะเป็นไปได้ยาก 

“ผมจึงได้เสนอให้ปรับภาษีมูลค่าเป็นอัตราเดียวที่ 23%-25% ซึ่งจะทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นประมาณ 3-6 บาท หรือ 5%-10% ไม่สูงจนเกินไปเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผมอยากเห็นกรมสรรพสามิตแยกการพิจารณาโครงสร้างภาษีออกจากอัตราภาษี โครงสร้างที่เหมาะสมควรเป็นเช่นไร อัตราที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร เมื่อได้โครงสร้างและอัตราภาษีที่เหมาะสมแล้วก็ควรที่จะค่อย ๆ ขึ้นภาษีเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในระยะยาว โครงสร้างภาษีบุหรี่ควรเปลี่ยนไปเก็บภาษีปริมาณอย่างเดียว และต้องเก็บภาษียาเส้นและภาษีบุหรี่ให้เท่ากัน ไม่งั้นขึ้นภาษีบุหรี่อย่างเดียวไม่มีประโยชน์ต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งก็เป็นไปตามหลักสากลที่แนะนำไว้โดยองค์กรระหว่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านภาษียาสูบต่าง ๆ เช่น ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลก  และเป็นไปตามตัวอย่างที่ดีในประเทศอังกฤษ ออสเตรีย และนิวซีเเลนด์” ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าว