posttoday

ดีอีเอสเตือนข่าวลือน้ำจะท่วมกทม.-นนทบุรี เพราะเปิดประตูระบายน้ำ

24 กันยายน 2564

โฆษกดีอีเอส เตือนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอมเขื่อนเจ้าพระยาเปิดประตูระบายน้ำ ส่งผลให้อีก 1 สัปดาห์ จะเกิดน้ำท่วมนนทบุรี-กทม.

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ตามที่มีการแชร์ข้อมูลในสื่อต่างๆ ประเด็นเรื่อง เขื่อนเจ้าพระยาเปิดประตูระบายน้ำ ส่งผลให้อีก 1 สัปดาห์ จะเกิดน้ำท่วมจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีมีผู้โพสต์ผ่านสื่อออนไลน์ว่า แจ้งเตือนระวังน้ำท่วม (สำหรับคนกรุงเทพฯ และคนเมืองนนทบุรี) เขื่อนเจ้าพระยาเปิดประตูระบายน้ำทุกบานแล้ว อีก 1 สัปดาห์จะถึงนนทบุรี คาด กทม. ไม่น่าจะรอดนั้น ทางกรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงดังนี้

ในวันที่ 22 ก.ย. 64 กรมชลประทาน ได้ควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านลงสู่พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา1,610 ลบ.ม./วินาที ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.เสนา อ.บางบาล อ.ผักไห่ และ อ.บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีตลิ่งต่ำและอยู่นอกเขตคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าในวันที่ 23 ก.ย. 64 เวลาประมาณ 06.00 น. ระดับน้ำจะสูงขึ้นเพียง 0.25 เมตร จากระดับน้ำปัจจุบัน ที่ +3.65 ม. (รสม.)

ทั้งนี้ ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำจะได้รับผลกระทบก็ต่อเมื่อมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในอัตรา 2,500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งในวันที่ 22 ก.ย. 64 สถานีบางไทรมีปริมาณน้ำไหลผ่านเพียง 1,645 ลบ.ม./วินาที เท่านั้น ในขณะที่ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา ณ วันที่ 22 กันยายน 2564 มีเพียง 1,610 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับปริมาณน้ำทางตอนบนบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่านเพียง 1,937 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ตอนบน

สำหรับกรุงเทพมหานคร จะเริ่มได้ผลกระทบเมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านที่สถานี C.29A อ.บางไทรในอัตรา 3,500 ลบ.ม./วินาที ขึ้นไป ในส่วนของกรณีที่มีการเปิดบานระบายทุกช่องของเขื่อนเจ้าพระยานั้น เป็นไปตามหลักการด้านชลศาสตร์ในการระบายน้ำ เพื่อป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ด้านท้ายของอาคารเขื่อนเจ้าพระยา เป็นการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของเขื่อน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำท่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ก่อนการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราตั้งแต่ 700 ลบ.ม./วินาที ขึ้นไป ได้มีการแจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้จังหวัดและผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบรับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากจากกรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www1.rid.go.th หรือโทรสายด่วน 1460 นอกจากนี้สามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง