posttoday

กสม.แนะทางแก้โควิดไม่เลือกปฎิบัติผู้ติดเอดส์

23 กันยายน 2564

กสม.เกาะติดโควิด-19 แนะแนวทางส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เสนอทางออกต่อสังคมต่อกรณีการไม่เลือกปฎิบัติกับผู้ติดเชื้อเอดส์

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 1/2564 โดยมีวาระและรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1.ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จากการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาอย่างต่อเนื่อง กสม. เห็นว่าการแพร่ระบาดในระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ปรากฏจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ จึงได้รวบรวมข้อเท็จจริงและวิเคราะห์กรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และรับไว้เป็นคำร้องเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 โดย กสม.ได้พิจารณาผลกระทบแยกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

(1) ประเด็นสิทธิในสุขภาพและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐ ได้แก่ การบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรค การค้นหาและตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ การรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด 19 และการจัดการวัคซีน

(2) ประเด็นคุณภาพชีวิตและการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐ ได้แก่ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและแรงงานนอกระบบ เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้หญิง คนไร้บ้าน กลุ่มชาติพันธุ์และบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และแรงงานข้ามชาติ

ในการนี้ จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังคณะรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้

(1) ต้องเร่งจัดหาวัคซีนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยคำนึงถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพ และควรชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบถึงแผนการบริหารจัดการวัคซีนที่เป็นธรรม

(2) ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ” ในระดับพื้นที่ชุมชนหรือท้องถิ่น เพื่อดูแลและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงทีในลักษณะครบวงจร (One stop service) โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ครอบคลุมตั้งแต่การค้นหาและช่วยเหลือเชิงรุกผู้ที่ตกหล่นจากการลงทะเบียนวัคซีน การให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ รวมไปถึงการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลภาครัฐเกี่ยวกับผู้ด้อยโอกาสให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน

(3) ควรทบทวนและแก้ไขระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชนว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า ครอบคลุมเด็กแรกเกิดทุกคน เพื่อเป็นหลักประกันด้านสวัสดิการสำหรับเด็กและช่วยบรรเทาผลกระทบแก่ครอบครัวของเด็กจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

(4) มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมในการเปิดสถานศึกษา และสำรวจนักเรียนที่มีความเสี่ยงจะออกจากระบบการศึกษาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค พร้อมให้การช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน

(5) บูรณาการมาตรการป้องกันและควบคุมโรคกับมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้เชื่อมโยงและเสริมกัน เช่น การจ้างงานระยะสั้นแก่บุคคลในพื้นที่ที่มีการระบาดเพื่อสนับสนุนภารกิจควบคุมโรค การสนับสนุนผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่สำหรับการดูแลประชาชนที่ต้องกักตัวในชุมชน

(6) จัดให้มีกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ให้แก่ชุมชนและกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ

(7) ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อการบริการด้านสาธารณสุขและ/หรือกิจกรรมที่เอื้อต่อการสร้างรายได้และ/หรือการช่วยเหลือกันของสมาชิกในชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมฐานราก เช่น พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กฎหมายและนโยบายคนเข้าเมือง หรือการไม่มีสถานะทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ นโยบายไล่รื้อชุมชนจากที่ดินสาธารณะ เป็นต้น

2. การเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี

2.1 ผลการติดตามการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง การเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการสมัครงานกับบริษัทเอกชน กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง 6 ราย นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 - สิงหาคม 2561 ในกรณีปัญหาเกี่ยวกับการที่บริษัทเอกชน จำนวน 6 แห่ง ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับธุรกิจยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ประกันภัย และโรงแรม ได้ให้ผู้สมัครงานตรวจสุขภาพและตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงาน ซึ่งการกำหนดให้การตรวจเชื้อเอชไอวีเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน เป็นการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเหตุแห่งสถานภาพทางสาธารณสุขอันถือเป็นสถานภาพอย่างอื่น (other status) การกระทำของบริษัทผู้ถูกร้อง จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยได้มีข้อเสนอแนะให้บริษัทพิจารณายกเลิกเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงานในทุกตำแหน่ง กสม.ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อ เดือนกันยายน 2564 ได้รับแจ้งจากผู้ถูกร้องครบทั้ง 5 ราย ว่าได้ยกเลิกเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงานในทุกตำแหน่ง อันเป็นการขจัดอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิในการประกอบอาชีพของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ขณะที่อีกรายได้ย้ำกับบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินการคัดกรองผู้สมัครงานถึงนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครที่ติดเชื้อเอชไอวี

2.2 การเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี กรณีกล่าวอ้างว่า กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2547 มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี

กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 กรณีทายาทของข้าราชการตำรวจรายนึง (นาย ส.) ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ได้สมัครและเข้ารับการคัดเลือกเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร แต่ไม่ผ่านการตรวจร่างกายตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2547 และถูกปฏิเสธการบรรจุแต่งตั้ง เนื่องจากเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการให้มีการตรวจเชื้อเอชไอวีโดยเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจ และนำผลการตรวจไปเป็นเหตุในการปฏิเสธไม่บรรจุแต่งตั้งนาย ส. เป็นข้าราชการตำรวจ เป็นการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อนาย ส. โดยเหตุที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี อันเป็นการอาศัยเหตุแห่งสถานภาพอย่างอื่น และเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อนาย ส.

ทั้งนี้ กสม.ได้มีข้อเสนอแนะให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณาบรรจุแต่งตั้งนาย ส. เป็นข้าราชการตำรวจ เพื่อไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไปนั้น แต่เนื่องจากเรื่องนี้มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล หรือเป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว จึงเห็นสมควรยุติการติดตามผลดำเนินการ

สำหรับกรณี กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2547 และบัญชีโรคหรืออาการที่ไม่ควรเป็นข้าราชการตำรวจ ห้ามรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นข้าราชการตำรวจนั้น กสม.จะได้หารือกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และเครือข่ายกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติ ถึงแนวทางในการดำเนินการต่อไป และจะได้หารือถึงความร่วมมือในการสนับสนุนให้มีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อลดปัญหาการเลือกปฏิบัติและเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชากรกลุ่มเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติทั้งหลาย