posttoday

'นิด้าโพล'เผยผู้สูงอายุยุคโควิดเครียด-กังวลติดเชื้อ

10 กันยายน 2564

พม.ร่วม"นิด้าโพล"เผยผลสำรวจผู้สูงวัยยุคโควิดเครียดทั้งรายได้-สุขภาพ-กลัวติดเชื้อ ต้องการวัคซีนป้องกัน-เงินเยียวยา-เพิ่มเบี้ยยังชีพ

พม. POLL ศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-11 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง “60+ ฝ่าวิกฤติ COVID-19 สู่วิถีถัดไป (Next Normal)” ทำการสำรวจในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 จากผู้สูงอายุมีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูณ์ขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) รวมขนาดตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 4,400 หน่วยตัวอย่าง เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีลงพื้นที่ภาคสนาม และการตอบแบบสอบถามออนไลน์ กำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 95.00

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงการใช้อุปกรณ์สื่อสารในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.36 ระบุว่า ใช้อุปกรณ์สื่อสารในชีวิตประจำวัน ขณะที่ ร้อยละ 16.64 ระบุว่า ไม่ใช้ ซึ่งในจำนวนผู้สูงอายุที่ใช้อุปกรณ์สื่อสารในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.66 ใช้มือถือแบบสมาร์ทโฟน รองลงมา ร้อยละ 34.05 ใช้มือถือแบบไมใช่สมาร์ทโฟน ร้อยละ 5.94 ใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก/แล็ปท็อป ร้อยละ 4.83 ใช้แท็บเล็ต และร้อยละ 1.20 ใช้นาฬิกาอัจฉริยะ (สมาร์ทวอทช์)

สำหรับการใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.79 ระบุว่า ใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ และร้อยละ 37.21 ระบุว่า ไม่ใช้แอปพลิเคชัน ซึ่งในจำนวนผู้สูงอายุที่ใช้แอปพลิเคชัน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.19 ระบุว่า ใช้ไลน์ รองลงมา ร้อยละ 67.39 ใช้เฟซบุ๊ก ร้อยละ 52.45 ใช้ยูทูบ ร้อยละ 27.49 ใช้กูเกิ้ลโครม ร้อยละ 16.59 ใช้แอปพลิเคชันเกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าการบริการออนไลน์ ร้อยละ 16.20 ใช้แอปพลิเคชันเกี่ยวกับการเงิน ธนาคาร โอน รับ จ่ายเงิน ร้อยละ 7.29 ใช้อีเมล ร้อยละ 3.91 ใช้ทวิตเตอร์ และร้อยละ 0.13 ใช้ติ๊กต็อก

เมื่อถามถึงผลกระทบที่ได้รับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.00 ได้รับผลกระทบโดยเกิดความเครียด วิตกกังวล รองลงมา ร้อยละ 59.32 รายได้ลดลง มีภาระค่าใช้จ่าย หนี้สินมากขึ้น ร้อยละ 47.86 การออกไปพบปะสังสรรค์ ทำกิจกรรมนอกบ้าน ลดน้อยลง ร้อยละ 44.07 มีเวลาใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ร้อยละ 23.84 ผู้สูงอายุต้องใช้เทคโนโลยีซึ่งเป็นสิ่งที่ยากและเป็นภาระ ร้อยละ 23.61 ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.48 มีการจัดการดูแลสภาพแวดล้อม ที่พักอาศัยและชุมชนให้สะอาด ถูกหลักอนามัย

ร้อยละ 20.20 มีการปรับใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เช่น มีการพูดคุย สื่อสารทางสังคมออนไลน์มากขึ้น ร้อยละ 18.86 ปริมาณขยะมูลฝอยและขยะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 15.43 กิจการ ธุรกิจการค้าขาย ประสบปัญหา หยุด พักเลิกกิจการ ไม่สามารถส่งงาน/สินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด และร้อยละ 4.82 รายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการปรับตัวของกิจการ ธุรกิจการค้าขาย สินค้า และการบริการ

สำหรับสิ่งที่ผู้สูงอายุวิตกกังวลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มากที่สุด 3 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 31.88 ระบุว่า เกิดความเครียดและกังวลว่า จะติดเชื้อ อันดับ 2 ร้อยละ 17.58 ระบุว่า รายได้ รายจ่าย ภาระหนี้สิน อันดับ 3 ร้อยละ 13.89 ระบุว่า การทำมาหาเลี้ยงชีพ การประกอบอาชีพ

ด้านการได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยา/กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.55 ระบุว่าได้รับ และร้อยละ 3.45 ระบุว่า ไม่ได้รับ โดยในจำนวนผู้สูงอายุที่ระบุว่าได้รับ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.48 ระบุว่า เป็นการลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า รองลงมา ร้อยละ 43.90 ระบุว่า เป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 37.05 ระบุว่า เป็นโครงการคนละครึ่ง ร้อยละ 36.84 ระบุว่า เป็นโครงการเราชนะ ร้อยละ 27.21 ระบุว่าเป็นเงินเยียวยาผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หรือเงินสงเคราะห์ฉุกเฉินอื่น ๆ ร้อยละ 10.99 ระบุว่า เป็นเงินเยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือเกษตรกรรายย่อย ร้อยละ 8.95 ระบุว่า เป็นการพักชำระหนี้ และร้อยละ 0.05 ระบุว่า เป็นเงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง

สำหรับสาเหตุที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยา/กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ในจำนวนผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.54 ระบุว่าเนื่องจากเป็นข้าราชการบำนาญ รองลงมา ร้อยละ 15.63 ระบุว่า ไม่ได้ลงทะเบียน ร้อยละ 12.50 ระบุว่า ต้องการให้คนที่เดือดร้อนกว่า ยังพอช่วยเหลือตนเองได้ มีธุรกิจ เป็นของตัวเองมีที่ดินทำกิน และมีบุตรหลานคอยจุนเจืออยู่บ้าง ร้อยละ 11.46 ระบุว่า เป็นผู้สูงอายุใช้โทรศัพท์ลงทะเบียนไม่เป็น ไม่มีใครลงทะเบียนให้ ร้อยละ 9.37 ระบุว่า ไม่ได้ใช้มือถือสมาร์ทโฟน และคุณสมบัติ ไม่เข้าเกณฑ์ ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 3.13 ระบุว่า ลงทะเบียนไม่ทัน

เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 23.77 การช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอินเทอร์เน็ต รองลงมา ร้อยละ 15.88 วัคซีนป้องกัน เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อความต้องการ และได้รับการจัดสรร อย่างทั่วถึง ร้อยละ 15.44 ความช่วยเหลือเรื่อง อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และสเปรย์แอลกอฮอล์ ร้อยละ 14.35 เพิ่มวงเงินและขยายระยะเวลา ในการช่วยเหลือเยียวยาผ่านโครงการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง และเพิ่มเงินสวัสดิการต่าง ๆ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินสงเคราะห์ และเงินสวัสดิการอื่น ๆ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 5.37 ระบุว่า การเข้ารับการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ร้อยละ 5.15 ส่งเสริม ด้านการประกอบอาชีพทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม ร้อยละ 3.39 ความช่วยเหลือเรื่องเงินกู้ เงินลงทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 2.08 ระบุว่า ตั้งจุดตรวจหาเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) ฟรี และสามารถเข้าถึงได้ง่าย และร้อยละ 0.22 ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการ ของรัฐได้อย่างทั่วถึง

สำหรับการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.50 ระบุว่า มีการรับมือกับสถานการณ์โดยติดตามข้อมูล ข่าวสาร เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รองลงมา ร้อยละ 81.20 ระบุว่า ปฏิบัติตนตามนโยบายมาตรการการควบคุมของรัฐ ร้อยละ 51.98 ระบุว่า ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ร้อยละ 43.07 ระบุว่า ใช้สมุนไพรทางเลือกมากขึ้น เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชาย เป็นต้น ร้อยละ 29.14 ระบุว่า เตรียมอาหาร ข้าวของเครื่องใช้อุปโภค บริโภค ให้เพียงพอ ร้อยละ 25.70 ระบุว่า ปรับเปลี่ยนวางแผนการเข้ารับการบริการทางสาธารณสุข เช่น การเลื่อนนัดพบแพทย์ การรับยาทางไปรษณีย์

หรือ รพสต. อสม. ร้านขายยาใกล้บ้านที่ได้รับการรับรอง เป็นต้น ร้อยละ 25.61 ระบุว่า ออกกำลังกาย ร้อยละ 25.23 ระบุว่า เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ร้อยละ 19.98 ระบุว่า วางแผนการใช้จ่ายเงิน และทำบัญชีครัวเรือน ร้อยละ 18.84 ระบุว่า ปฏิบัติตามหลักศาสนา ร้อยละ 18.00 ระบุว่า ทำงานอดิเรกเพิ่มมากขึ้น เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ งานฝีมือ หัตถกรรม เป็นต้น และร้อยละ 6.86 ระบุว่า เรียนรู้ ฝึกทักษะ หาแนวทางประกอบอาชีพเสริม

สำหรับสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการความช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) มากที่สุด 3 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 23.56 คือ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อันดับ 2 ร้อยละ 18.33 คือ การช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยา เช่น การจ่ายเงินเยียวยาและชดเชย การสร้างงาน สร้างอาชีพ อันดับ 3 ร้อยละ 15.40 คือ อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัยที่ถูกสุขลักษณะ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ

สำหรับสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีมาตรการช่วยเหลือ เยียวยาหรือฟื้นฟู ทั้งในปัจจุบันและอนาคต มากที่สุด 3 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 16.80 คือ สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทันเวลา อันดับ 2 ร้อยละ 14.50 คือ ส่งเสริม การมีงานทำ พัฒนาทักษะอาชีพตามความถนัดและความสนใจ อันดับ 3 ร้อยละ 14.03 คือ เพิ่มวงเงินกู้ยืมเงินกองทุนประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ

สำหรับแนวโน้มการปฏิบัติตัวตามรูปแบบวิถีถัดไป (Next Normal) ในอนาคต ซึ่งพิจารณาเฉพาะสัดส่วนผู้ที่ระบุว่า “ทำ” โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อยในประเด็นต่าง ๆ พบว่า ร้อยละ 98.66 ระบุว่า ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ (ออกกำลังกาย ล้างมือบ่อย ๆ สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน เว้นระยะห่างทางสังคม) มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 91.91 ระบุว่า ทำกับข้าว ปลูกผักสวนครัว ไว้กินเอง ร้อยละ 88.71 ระบุว่า การจัดสภาพแวดล้อม ที่พักอาศัยและชุมชนให้สะอาด ถูกหลักสุขอนามัย ร้อยละ 86.36 ระบุว่า การกินอาหาร เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ธัญพืช ปลอดสารพิษ สินค้าเกษตรอินทรีย์ ร้อยละ 82.39 ระบุว่า การฝึกปรับสภาพจิตใจและอารมณ์ให้สมดุล ปฏิบัติ ตามหลักศาสนา หากเกิดความเครียด ความวิตกกังวล ร้อยละ 81.91 ระบุว่า กินสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเน้นเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย เช่น วิตามิน อาหารเสริม สมุนไพรต่าง ๆ ร้อยละ 78.18 ระบุว่า ลดการทิ้งขยะ มีการนำมาใช้ซ้ำ/ ลดการใช้ไฟฟ้า น้ำ น้ำมัน เชื้อเพลิง ร้อยละ 57.09 ระบุว่า หลีกเลี่ยงการจับหรือสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น ใช้เทคโนโลยี ไร้การสัมผัส เช่น การรับ โอน จ่ายเงิน ผ่านโทรศัพท์มือถือ สั่งของออนไลน์ และร้อยละ 37.14 ระบุว่า ทำกิจกรรม ทำงานประกอบอาชีพธุรกิจที่บ้านหรือทางออนไลน์

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.13 ระบุว่า ควรเพิ่มสิทธิและสวัสดิการของผู้สูงอายุ เช่น การเพิ่มเบี้ยยังชีพ รายเดือนให้แก่ผู้สูงอายุ รองลงมา ร้อยละ 15.98 ระบุว่า ควรส่งเสริมการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ ให้กับผู้สูงอายุ ร้อยละ 11.00 ระบุว่า ควรได้รับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยมีช่องทาง การบริการสำหรับผู้สูงอายุ เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วในการเข้ารับการรักษา ร้อยละ 8.47 ระบุว่า ควรส่งเสริมให้มีกิจกรรมยามว่างหรือกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ร้อยละ 7.41 ระบุว่า ควรจัดสรรวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อความต้องการ ร้อยละ 3.70 ระบุว่า ผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ พูดคุย ให้กำลังใจ จากครอบครัวอย่างใกล้ชิด ร้อยละ 3.28 ระบุว่า การสอนหรือแนะนำการใช้อุปกรณ์เครื่องมือเทคโนโลยีต่าง ๆ ร้อยละ 2.65 ระบุว่า ควรมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ในปัจจุบัน และแนะนำวิธีการดูตัวเองที่ถูกต้องให้กับผู้สูงอายุในชุมชน ร้อยละ 2.22 ระบุว่า ควรส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต/โรงเรียนผู้สูงอายุ ร้อยละ 0.63 ระบุว่า ควรส่งเสริมการดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ควรจัดหาที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (แบบถาวร/ชั่วคราว)