posttoday

กทม.เปิด Walk-in 12จุด ฉีดวัคซีนหญิงตั้งท้อง

21 สิงหาคม 2564

กทม.เปิด Walk-in 12จุด ฉีดวัคซีนหญิงตั้งครรภ์ครบทุกคน ลดอัตราเสี่ยงเสียชีวิตโควิด-19

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางการเร่งให้วัคซีนโควิด-19 แก่หญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลและรวบรวมข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 63-13 ส.ค. 64 เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในสตรีตั้งครรภ์ พบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคโควิด-19 มีอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 1.85 สูงเป็น 2.5 เท่าของคนทั่วไป ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตนี้ประมาณครึ่งหนึ่งยังไม่ได้คลอดบุตร การเสียชีวิตส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการหายใจล้มเหลว เนื่องจากสรีระของสตรีตั้งครรภ์ที่มดลูกโตขึ้น พร้อมกับมีน้ำคร่ำในมดลูกมากขึ้น (น้ำคร่ำมากที่สุดเมื่อท้อง 8 เดือน หรือ 32 สัปดาห์) จึงดันปอดให้ขยายตัวได้ลำบาก อัตราการตายของลูก มีประมาณร้อยละ 1.8 ซึ่งอาจตายก่อนคลอดหรือหลังคลอด รวมถึงมีอัตราการคลอดก่อนกำหนดมากกว่าปกติ และอัตราการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก พบประมาณร้อยละ 11 ซึ่งอาจเกิดจากการถ่ายทอดโดยตรงหรือจากการสัมผัสหลังคลอด

ทั้งนี้มีข้อมูลด้านวิชาการเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยังพบว่า วัคซีนทุกชนิดมีความปลอดภัยต่อทั้งแม่และลูกในระดับที่นานาชาติรับรองในสถานการณ์พิเศษ วัคซีนในแม่สามารถส่งต่อภูมิคุ้มกันโรคให้ลูกได้ด้วย หญิงตั้งครรภ์ควรฉีดวัคซีนเข็มแรกหลังอายุครรภ์ 3 เดือน (หรือ 12 สัปดาห์) ทุกกลุ่มอายุของแม่ ซึ่งวัคซีนทุกชนิดและทุกยี่ห้อมีผลลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิต และสามารถฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนต่างชนิดต่างยี่ห้อได้ (Mix and Match) และสามารถฉีดได้ในช่วงการให้น้ำนมบุตร

กทม.เปิด Walk-in 12จุด ฉีดวัคซีนหญิงตั้งท้อง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติม ก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานครได้มีการฉีดวัคซีนให้หญิงตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ทำได้เร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ขณะนี้กรุงเทพมหานครจึงได้เร่งรณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขให้ครอบคลุม ทั่วถึง ครบทุกคน เพื่อลดความเสี่ยงอาการหนักและต้องเข้าไอซียู หากติดเชื้อโควิด-19 โดยมีการเปิด Walk-in เข้ารับวัคซีนได้โดยไม่ต้องลงทะเบียน เพียงนำใบฝากครรภ์หรือใบรับรองการตั้งครรภ์จากแพทย์พร้อมบัตรประชาชนมาแสดง ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนไทยร่วมใจ ทั้ง 12 จุด ประกอบด้วย 1. SCB สำนักงานใหญ่ (รัชโยธิน) 2. SCG บางซื่อ 3. โรบินสันไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง 4. เซ็นทรัล ลาดพร้าว 5. เซ็นทรัลเวิลด์ 6. สามย่านมิตรทาวน์ 7. โลตัส พระราม 4 8. เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ 9. มหาวิทยาลัยหอการค้า 10. สยามพารากอน 11. เดอะมอลล์ บางกะปิ และ 12 .เดอะมอลล์ บางแค ซึ่งผู้ที่จะมารับการฉีดวัคซีนสามารถสอบถามข้อมูลและเส้นทางเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนวัคซีน 1516 และเฟซบุ๊กเพจ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย” และสามารถติดตามเพจโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 11 แห่ง ซึ่งจะมีการเปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิดด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้ยกระดับมาตรการป้องกันและดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ เน้นส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดโดยเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ เมื่อสงสัยว่าติดเชื้อสามารถตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit ได้ และสนับสนุนหญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือหญิงตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไปและภาวะครรภ์เสี่ยงสูง อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ให้ทำงานที่บ้านหากสามารถทำได้ รวมถึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีน เนื่องจากมีความเสี่ยงโรคจะรุนแรงกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า ควรฉีดวัคซีนหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งจะมีผลข้างเคียงลักษณะคล้ายกับคนทั่วไปและยังสามารถฉีดวัคซีนกับสตรีให้นมบุตรได้

กทม.เปิด Walk-in 12จุด ฉีดวัคซีนหญิงตั้งท้อง

สำหรับการป้องกันที่ดีที่สุดในหญิงตั้งครรภ์ช่วงโควิด-19 คือการรับวัคซีน ซึ่งภูมิต้านทานจะถึงทารกด้วย ขณะนี้มีรายงานจากต่างประเทศแล้วว่าการฉีดแบบมิกซ์แอนด์แมชต์ได้ผลภูมิคุ้มกันสูง ไม่จำเป็นต้องเลือกวัคซีน แต่ควรรีบฉีดวัคซีนให้ได้ภูมิคุ้มกันขั้นแรกจากเข็มแรกก่อน ในขณะที่โควิด-19 เป็นโรคที่ทำให้หลอดเลือดชำรุดเสียหาย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์สูงมาก ทั้งภาวะความดันโลหิตสูง เลือดออกง่ายกว่าปกติ หลอดเลือดอุดตันที่ปอดมากกว่าปกติ รกลอกก่อนกำหนด จึงเป็นสาเหตุของการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด เด็กน้ำหนักน้อยกว่ากำหนด รวมถึงทำให้แม่เสียชีวิตได้ง่ายกว่าปกติ รวมถึงสรีระหญิงตั้งครรภ์ ช่วง 32 สัปดาห์หรือ 8 เดือน ครรภ์จะใหญ่ขึ้น น้ำคร่ำในมดลูกมีมากที่สุดประมาณ 1-1.3 ลิตร จึงดันมดลูกขึ้นไปทำให้ปอดขยายตัวลำบาก เกิดภาวะปอดแฟบตามธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาหายใจล้มเหลวได้มาก ขณะเดียวกันวัคซีนมีความปลอดภัยและจำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรฉีดเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะใน 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนแรกเป็นช่วงที่ร่างกายเด็กกำลังสร้างอวัยวะทุกอย่าง เช่น ระบบสมอง ประสาท กล้ามเนื้อ ระบบต่อมไร้ท่อ ต้องไม่มียาหรือวัคซีนใดๆเข้ามาแทรกซ้อน สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์มีการระบุว่าห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ สามารถใช้ยาเรมเดซิเวียร์แบบฉีดได้ในกรณีอาการรุนแรง เช่น โควิดลงปอด สามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โทร. 1646