posttoday

สธ.ขอ 2สัปดาห์นี้ลดการเดินทาง หวังทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

02 สิงหาคม 2564

สธ.ขอประชาชนลดการเดินทางช่วง 2 สัปดาห์จากนี้ ระบุหาร่วมมือกันหยุดเชื้อได้กทม.จะเริ่มดีขึ้นใน 2-4 สัปดาห์ถัดไป และตามด้วยจังหวัดต่างๆ

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 64 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยติดเชื้อใหม่ 17,970 ราย รักษาหาย 13,919 ราย อยู่ระหว่างรักษา 208,875 ราย เสียชีวิต 178 ราย ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ประสิทธิภาพการล็อกดาวน์ 20 % ใน 14 วันที่ผ่านมา หากเพิ่มประสิทธิภาพการล็อคดาวน์เป็น 25 % โดยล็อกดาวน์เพิ่มเป็น 29 จังหวัด ต่ออีก 14 วัน ร่วมกับการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง จะส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงอีกค่อนข้างมาก

"ในภาวะวิกฤตความร่วมมือของทุกภาคส่วนมีค่ามากที่สุดในการลดการติดเชื้อ ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ช่วยกันลดการเดินทางดูแลตนเองเข้มขึ้น โดย กทม.จะเริ่มดีขึ้นใน 2-4 สัปดาห์ถัดไป และตามด้วยจังหวัดต่างๆ ขอให้กลับไปนึกถึงเมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ช่วยกันอยู่บ้านหยุดเชื้อ ไม่แพร่กระจายโรคต่อ"นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าว

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 นั้น ใน กทม.และปริมณฑล ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนมากเพียงพอ ช่วงเดือนสิงหาคมนี้จะเร่งฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยงในต่างจังหวัดมากขึ้น คือ ผู้สูงอายุ และ 7 โรคเรื้อรัง เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

สำหรับปี 2565 รัฐบาลอนุมัติกรอบการจัดหาวัคซีนเพิ่มเป็น 120 ล้านโดส โดยจะจัดหาวัคซีนทุกชนิด ทั้งเชื้อตาย ไวรัลเวคเตอร์ mRNA และโปรตีนซับยูนิต ที่เป็นวัคซีนรุ่นใหม่จะป้องกันเชื้อในช่วงเวลานั้นได้ วัคซีนที่ ออกมาก่อนหน้านี้ ก็ป้องกันสายพันธุ์อู่ฮั่นและอัลฟาได้ แต่เมื่อกลายพันธุ์เป็นเดลตาประสิทธิภาพก็อ่อนลง โดยปัจจุบันบริษัทต่างๆ กำลังพัฒนาวัคซีนรูปแบบใหม่ อาจเป็นวัคซีนหลักที่ต้องฉีด 2 เข็ม หรืออาจเป็นวัคซีนบูสเตอร์” นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว

ด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลการติดตามการเคลื่อนย้ายของคน ทั้งทางรถและการเดินเท้า หลังประกาศลดการเดินทางตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่แล้ว พบว่าแนวโน้มลดลง แต่น้อยกว่าปีที่แล้ว เช่น กทม.และชลบุรี ปีที่แล้วลดลงได้กว่า 80% ส่วนปีนี้ได้เพียงกว่า 70% จึงต้องขอความร่วมมือเพื่อช่วยกันลดลงความเสี่ยง

"2 สัปดาห์จากนี้ถือเป็นเวลาทองที่เราต้องร่วมมือกันทำให้การแพร่เชื้อน้อยลงมากที่สุด โดยออกจากบ้านให้น้อยที่สุด ทำงานที่บ้านให้มากที่สุด เน้นกิจกรรมที่ทำทางออนไลน์ เพิ่มความเข้มงวดขณะอยู่บ้านป้องกันการติดเชื้อในครอบครัว โดยเฉพาะที่มีผู้สูงอายุและโรคประจำตัว"

นายแพทย์โสภณกล่าวอีกว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมีคำแนะนำให้กระจายวัคซีนไปพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งในเดือนนี้มีวัคซีนประมาณ 10 ล้านโดสขึ้นไป ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และไฟเซอร์อีก 1.5 ล้านโดส โดยหลายจังหวัดที่มีการระบาดมากจะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น เช่น นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ส่วน กทม.ยังมีการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง