posttoday

สธ.ยันปีนี้วัคซีนมาครบ100ล้านโดสประชาชนได้ฉีดแน่

21 กรกฎาคม 2564

สธ.ยันวัคซีนโควิด-19มาครบ100ล้านโดสประชาชนได้ฉีดปีนี้ หารือตัวแทนผู้นำเข้าวัคซีนรองรับแผนจัดหาวัคซีน 120 ล้านโดสในปี65

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในปี 2564-2565 ว่า กรมควบคุมโรคและบริษัทไฟเซอร์ จำกัด ลงนามสัญญาจัดหาวัคซีน mRNA จำนวน 20 ล้านโดส โดยจะส่งมอบตามแผนภายในไตรมาส 4 ปี 2564 ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาบริจาคให้ประเทศไทย 1.5 ล้านโดส จะมาปลายเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ช่วงเดือนสิงหาคมนี้

ซึ่ง ศบค.เห็นชอบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิดที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว เพื่อกระตุ้นเป็นเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดส

2.กลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด

3.ชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ระบาด

โดยกระทรวงสาธารณสุขให้แต่ละจังหวัดแจ้งยอดกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าในการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่จะดำเนินการฉีดก่อน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบถามข้อมูลเพิ่มให้ได้จำนวนที่ชัดเจน จะได้บริหารจัดการวัคซีนที่ได้รับอย่างครบถ้วนถูกต้อง

ส่วนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 มีการลงนามจองซื้อและจะส่งมอบตามสัญญาจำนวน 100 ล้านโดสในปี 2564 มั่นใจว่าจะมาตามกำหนด แบ่งเป็น แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19 ล้านโดส และไฟเซอร์ 20 ล้านโดส โดยได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การทำสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้า เป็นช่วงที่ยังไม่มีการผลิต จึงไม่สามารถกำหนดจำนวนที่ผลิตและจัดส่งให้ได้ ต้องเจรจากันล่วงหน้าในแต่ละเดือน สำหรับข่าวที่บอกว่า สธ. ต้องการ 3 ล้านโดสต่อเดือนนั้น ไม่เป็นความจริง ซึ่งจริงแล้วความต้องการแต่ละเดือนอยู่ที่ 10 ล้านโดส จากการเจรจาล่าสุดทางบริษัทจะส่งให้เราได้อย่างน้อยประมาณ 5-6 ล้านโดสต่อเดือนขึ้นกับกำลังการผลิต หากผลิตได้เพิ่มขึ้นก็จะส่งมอบให้ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าในการจัดการวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติมในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุข ได้เดินหน้าหารือกับ 6 ตัวแทนผู้นำเข้าวัคซีนโควิด ได้แก่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า, บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัดผู้นำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา, บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ผู้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มและวัคซีนของบารัต และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผู้นำเข้าวัคซีนซิโนแวค สำหรับการวางแผนจัดหาวัคซีนโควิด 120 ล้านโดส รองรับการกลายพันธุ์ปีหน้า

นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า กรอบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในปี 2564 จำนวน 100 ล้านโดส ขณะนี้มีการเซ็นสัญญากับแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส วันนี้ลงนามสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส และสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคมีแผนนำเข้าเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม อีกราว 19 ล้านโดส ถือว่านำเข้าได้แล้ว 100 ล้านโดส แต่ยังมีวัคซีนจากหน่วยงานอื่นๆ ร่วมกันนำเข้า เช่น วัคซีนซิโนฟาร์มโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา ทำให้ประเทศไทยสามารถหาวัคซีนมาเพิ่มเติมในภาวะความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชนที่มีจำนวนมาก

สำหรับปี 2565 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีมติให้จัดหาเพิ่มเติมอีก 120 ล้านโดส โดยกระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งความต้องการวัคซีน 120 ล้านโดส ในปี 2565 กับทั้ง 6 ผู้แทนนำเข้าวัคซีน ซึ่งจะเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่รองรับการกลายพันธุ์ได้

ขณะที่ผู้แทนวัคซีนทั้ง 6 ราย ได้รายงานความก้าวหน้าในวัคซีนที่ตัวเองรับผิดชอบ โดยเฉพาะการพัฒนาปรับปรุงวัคซีนรุ่นต่อไปให้มีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ได้มากขึ้น และระบบการซัพพลายมีแนวโน้มเป็นอย่างไรจะจัดหาได้ในช่วงไหน จำนวนที่จะเจรจาซื้อขายได้ในปี 2565 รวมถึงทำความเข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีนรูปแบบใหม่เช่น การกระตุ้นบูสเตอร์โดส ซึ่งแต่ละฝ่ายจะนำข้อมูลที่ได้ไปปรึกษาหารือและเจรจาเรื่องการจองวัคซีนต่อไปโดยจะรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะ

ด้านองค์การเภสัชกรรม ยังได้นำผลการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายที่มีการปรับปรุงสายพันธุ์ผ่านการทดลองระยะที่ 1 ในมนุษย์แล้ว และกำลังจะเริ่มการทดลองระยะที่ 2 มารายงานความก้าวหน้า ซึ่งเป็นที่น่ายินดีถ้าจะพัฒนาวัคซีนที่ผลิตเองในประเทศเองได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมโรคในอนาคต ซึ่งหวังว่าจะสามารถต่อสู้กับเชื้อที่กลายพันธุ์ได้ โดยต้องรอการศึกษาประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์อีกครั้ง

สำหรับการจัดหาวัคซีนรูปแบบอื่น เช่น โปรตีนซับยูนิต ยังไม่ได้เข้ามาหารือแต่จะมีการติดต่อหารือเป็นลำดับถัดไปและย้ำว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยียังเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานหลักของไทยในปี 2565 ซึ่งมีสถาบันวัคซีนแห่งชาติดำเนินการ