posttoday

สธ.ส่ง "CCR Team" เข้าดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน

12 กรกฎาคม 2564

สธ.ส่ง CCR Team จำนวน 188 ทีม ดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านและชุมชนใน 6 กลุ่มเขตกทม.

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด19 ในประเทศไทยยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑลมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีการรอตรวจหาเชื้อและรอเตียงรักษาจำนวนมาก

สธ.ได้วางระบบแก้ไขดังนี้ 1.การนำ Antigen Test Kit (ATK) มาใช้ โดยระยะแรกตรวจในสถานพยาบาล และจะขยายให้ประชาชนตรวจด้วยตนเอง คาดว่าจะเริ่มได้ในสัปดาห์หน้า 2.การดูแลผู้ป่วยโควิดไม่มีอาการหรืออาการน้อยที่บ้าน (Home Isolation) หรือที่ชุมชน (Community Isolation) และ 3.กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ กทม. และภาคีเครือข่ายใช้ระบบบริการปฐมภูมิดำเนินการ ส่ง Comprehensive Covid-19 Response Team หรือ CCR Team จำนวน 188 ทีม ดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านหรือชุมชน

CCR Team จะเข้าให้ความรู้การดูแลตนเอง ดูแลรักษาทางกายและใจ ให้คำปรึกษาผ่านเทเลเมดิซีน จ่ายยารักษา หากมีอาการมากขึ้นจะประสานเข้าระบบโรงพยาบาล และถ้าพบผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือหญิงตั้งครรภ์ จะเข้าไปฉีดวัคซีนทันที ดำเนินการในช่วง 2 สัปดาห์ที่มีการล็อกดาวน์ โดยในวันนี้ ได้ปล่อยขบวน CCR Team ออกปฏิบัติงานแล้วเริ่มที่ซอยลาซาล

นายแพทย์โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว กล่าวว่า CCR Team ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข ของหน่วยบริการปฐมภูมิ คลินิกชุมชนอบอุ่น ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เครือข่ายภาคประชาชน บุคลากรของ กทม. เจ้าหน้าที่เขต หรือกำลังทหาร ตำรวจจำนวน 188 ทีม คอยช่วยประสานการลงพื้นที่ ดูแล 6 กลุ่มเขตในกทม. เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันนี้ ภายใน 2 สัปดาห์ที่มีการล็อกดาวน์ และได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานสนับสนุน CCR Team เบอร์0-2590-1933

ด้าน นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้าระบบการดูแลที่บ้าน คือ ผู้ป่วยใหม่อาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการอยู่ระหว่างรอเตียง หรือผู้ป่วยที่รักษามาแล้ว 7-10 วัน อาการคงที่ให้กลับมาดูแลต่อที่บ้าน โดยแพทย์จะพิจารณาหลักเกณฑ์ดังนี้ 1.ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย 2.อายุน้อยกว่า 60 ปี 3.สุขภาพแข็งแรง 4. พักอยู่คนเดียวหรือมีคนพักรวมไม่เกิน 1 คน 5.ไม่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน90 กิโลกรัมหรือค่าดัชนีมวลกายเกิน 30 6.ไม่มีโรคร่วมสำคัญ คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และ7.ยินยอมในการแยกตัว

สำหรับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยขณะดูแลรักษาที่บ้าน คือ 1.ไม่ให้ใครมาเยี่ยม 2. เว้นระยะห่างจากคนอื่น 2 เมตร 3.แยกห้องพัก หากทำไม่ได้ให้แยกจากคนอื่นให้มากที่สุด อากาศต้องถ่ายเท 4. ห้ามกินดื่มด้วยกัน 5.สวมหน้ากากตลอดเวลา 6.ล้างมือบ่อยๆ 7.แยกเครื่องใช้ส่วนตัวทั้งหมด 8.แยกซักเสื้อผ้า 9.ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่นหรือใช้หลังสุดและทำความสะอาด และ 10. แยกขยะ

ทั้งนี้ สถานพยาบาลจัดระบบเข้ามาดูแลติดตามอาการ โดยมีอาหาร 3 มื้อ ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ให้ยาตามดุลยพินิจแพทย์ มีระบบเทเลเมดิซีนพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา หากอาการเปลี่ยนแปลงจะนำส่งโรงพยาบาล ส่วนกรณีแยกห้องพักไม่ได้อาจใช้แนวทางดูแลผู้ป่วยที่ชุมชน ซึ่งกทม.ร่วมกับกรมการแพทย์ดำเนินการศูนย์พักคอย 16 ศูนย์ ใน 15 เขต รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย เตรียมไว้ประมาณ 2,500 คน จัดแพทย์ พยาบาล ระบบไอทีติดตามอาการ