posttoday

โควิดสาหัส! ทำเด็กหลุดระบบการศึกษาหายไปจากระบบแล้ว10%

17 มิถุนายน 2564

กสศ.เผยเด็กหลุดออกนอกระบบหลังเปิดเทอมใหม่ ต้นทุนการศึกษาสูงเกินแบกรับหายไปจากระบบแล้ว10% แนะเร่งฉีดวัคซีนโควิดในครูและเด็กให้ได้ 90%

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวว่า กสศ.ดูแลนักเรียนยากจนพิเศษ เส้นรายได้ต่ำว่า 3,000 บาทลงมา วิกฤตโควิดทำให้เกิดปรากฎการณ์ความยากจนที่ซ้ำซ้อน ทั้งยากจนเฉียบพลัน จนถาวร และเกือบจน สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจ ในปีการศึกษา 2564 เบื้องต้นเราพบว่าจะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 6,568 คน แต่อีกเดือนเศษจะเพิ่มเป็นหมื่นคนและคาดการณ์ว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบ 65,000 คน ถ้าหลุดจากระบบประถมศึกษาอาจจะไม่มากเพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับราว 4% มัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ที่ 19-20% มัธยมปลายอยู่ที่ 48 % และในจำนวนนี้โอกาสเข้ามหาลัยได้เพียง 8-10% กสศ.อุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอยู่ที่ ปีละ 3,000 บาท ต้นทุนการศึกษานั้นมีค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร อยู่ประมาณ 2,058-6,034 บาท ทำให้การเรียนต่อเป็นไปไม่ได้ นโยบายการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวก็ใช้อัตราเดิมมา 10 กว่าปีไม่มีการปรับเพิ่มท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รายได้ลด หนี้นอกระบบเพิ่ม

ดังนั้น จะต้องเร่งแก้ปัญหาจริงจัง โดยการปรับเงินอุดหนุนรายหัว ค่าเล่าเรียน ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน ให้สอดรับกับค่าใช้จ่ายจริง ตอนนี้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริงเกือบ 2-3 พัน ไม่เช่นนั้นในภาคเรียนที่สองจะเห็นการหลุดจากระบบมากกว่านี้ เด็กที่ใกล้เสี่ยงหลุดหรือหลุดแล้ว ทัศนคติ ความมุ่งมั่นทางการศึกษาน้อยมาก การดึงกลับมาเรียนหนังสือ ถ้าไม่ทำแบบประณีด สามารถเข้าถึงวิธีคิดหรือปัญหาจริง เทอมสองจะเห็นเด็กหลุดมากขึ้นและเป็นวิกฤติของประเทศอย่างแท้จริง และขอเสนอให้มีการประนอมหนี้การศึกษา เรียนฟรีแบบไม่มีค่าเทอม และการหาทางช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง ยกตัวอย่างโมเดลของจังหวัดพิษณุโลก และภูเก็ตเป็นการทำงานเชิงรุก บูรณาการเชื่อมโยงไปสู่การทำงานในพื้นที่ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบ

“ค่าน้ำมันรถไปกลับ วันละประมาณ 40 บาท เดือนละ 800 บาท ผู้ปกครองมีรายได้ 1,077 บาทต่อคนต่อเดือน จะไปรอดหรือครับ นี่เป็นปัญหาหนักมาก เด็กที่เพิ่มมากขึ้น 7-8 แสนคนที่ยากจน ถ้าเอาเส้นรายได้ 1,021 บาท จะมีเด็กยากจนพิเศษ 9 แสนคน ถ้าใช้เส้นแบ่ง 1,388 บาท จะเกิดเด็กยากจนและยากจนพิเศษ 1.9 ล้านคน เด็กเพิ่มขึ้น 2-3เท่า แต่เราช้อนได้เพียง 10-15% เท่านั้น ทั้งนี้กสศ.จะมีการประชุมบอร์ดเพื่อกำหนดทิศทางใน 3 ปีข้างหน้าในท่ามกลางวิกฤติโควิดที่ไม่ลดลง จะกำหนดบทบาทภารกิจอย่างไรเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ครอบครัวเปราะบางยากจนให้ดียิ่งขึ้นให้ได้ ” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE พบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษ 1.17 ล้านคนหรือ 18% ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มยากจนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาสูงกว่ากลุ่มครอบครัวที่รวย 4 เท่า คือยิ่งจนยิ่งแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งในครอบครัวยากจนพิเศษ มีรายได้เฉลี่ย 1,077 บาทต่อเดือนต่อคน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงถึง 2,000-6,000 บาท ต่อปี

ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า ปัญหาเด็กนอกระบบไม่ใช่แค่ปัญหาการศึกษาแต่กระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วย โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดคำนวณว่าหากประเทศไทยไม่มีเด็กหลุดจากระบบจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 3% ขณะที่อดีตนักเศรษฐศาสตร์จากยูเนสโก ประเมินว่าการที่ประเทศไทยแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 228,000 ล้านบาทต่อปี รายงานธนาคารโลกล่าสุด ในเดือนมิถุนายน ระบุว่าการเข้าถึงวัคซีนเป็นตัวแปรสำคัญต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศต่างๆ เศรษฐกิจโลกขยายตัว 5.6% เร็วกว่าที่คาดไว้ 1.5% เพราะการมาของวัคซีน ในขณะที่ประเทศยากจนกำลังพัฒนาเศรษฐกิจทรุดลง คนจนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโตเพียง 2.9% ต่ำสุดในรอบ 20 ปี จะมีมากกว่า 100 ล้านคนที่กลายเป็น กลุ่มยากจนสูงสุด หรือ extream poverty

"ดังนั้น ควรเร่งการฉีดวัคซีนในครู ในเด็กหากทำได้ และในภาพรวม ควรฉีดให้ได้ 90% เพื่อการฟื้นกลับคืนทั้งทางเศรษฐกิจ การศีกษา โดยเร็ว เพราะจะทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่การฟื้นฟู และยิ่งเปิดเรียนเร็วเท่าไหร่ยิ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเท่านั้นโดย ผลกระทบจากการปิดเรียน 4 เดือน ส่งผลต่อจีดีพีไทย 9.12 แสนเหรียญสหรัฐ"