posttoday

สปสช.จ่ายเงินผู้ได้รับผลข้างเคียงวัคซีนแล้ว150ราย รวม 9.9แสนบาท

02 มิถุนายน 2564

สปสช.เผยจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิดแล้วจำนวน 150 ราย รวมเป็นเงินช่วยเหลือจำนวน 991,700 บาท พบส่วนใหญ่อาการไม่มาก 131 ราย อาการปานกลาง 15 ราย และอาการมากต้องนอนโรงพยาบาล 4 ราย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ได้ประชุมผู้บริหาร สปสช. ทั้ง 13 เขต เพื่อชี้แจงการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีที่ได้รับความเสียหายจากวัคซีนโควิด-19 แต่ละเขตขณะนี้ เริ่มมีผู้ทยอยยื่นคำร้องขอรับการความช่วยเหลือเบื้องต้นจากกรณีฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้ามา โดยย้ำว่าหากประชาชนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 สงสัยว่าจะมีอาการเจ็บป่วยที่มีเหตุจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงในกรณีที่เสียชีวิต ทั้งตัวผู้ฉีดวัคซีนหรือญาติสามารถยื่นคำร้องได้ที่โรงพยาบาลที่รับฉีดวัคซีน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานสาขาเขตของ สปสช. ได้ทันที โดยจะมีคณะอนุกรรมการฯ ระดับพื้นที่พิจารณาคำร้อง เมื่อพบว่าเป็นความเสียหายจะจ่ายเงินชดเชยภายใน 5 วันหลังคณะอนุกรรมการมีมติ

"ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั่วประเทศมีผู้ที่รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยื่นคำร้องและ สปสช. ได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วจำนวน 150 ราย รวมเป็นเงินช่วยเหลือจำนวน 991,700 บาท ส่วนใหญ่อาการไม่มากมีจำนวน 131 ราย อาการปานกลาง 15 ราย และอาการมากที่ต้องนอนโรงพยาบาล 4 ราย"

"อย่างไรก็ตามกรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นที่ได้รับความเสียหายจากวัคซีนโควิด-19 นี้ เฉพาะบริการวัคซีนหลักที่เป็นของรัฐบาลจัดบริการฉีดให้กับประชาชนเท่านั้น โดยครอบคลุมทุกบริษัทที่รัฐนำเข้า แต่ไม่รวมถึงวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นวัคซีนทางเลือกซึ่งให้บริการโดยโรงพยาบาลเอกชน"เลขาธิการสปสช.กล่าว

ทั้งนี้ในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ตามภาวะความรุนแรง

“ต้องย้ำว่ากรณีที่สงสัยความเจ็บป่วยรวมถึงเสียชีวิตว่ามีสาเหตุจากวัคซีน สามารถยื่นคำร้องได้ทันที ไม่ต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ เพราะเป็นการใช้หลักการช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด อาจเป็นเรื่องของเหตุสุดวิสัย และเมื่อมีได้จ่ายช่วยเหลือไปแล้ว ในภายหลังหากพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เราก็จะไม่เรียกเงินคืนเนื่องจากถือว่าเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น เรื่องนี้เป็นกลไกทางสังคมในการให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่กลไกทางการแพทย์ที่พิสูจน์สาเหตุ จึงต้องมีความรวดเร็วเพื่อบรรเทาผลที่เกิดขึ้น”นพ.จเด็จกล่าว