posttoday

ธุรกิจสุราไม่สนโควิด ทุ่มงบมหาศาล รุกตลาดน้ำเมาออนไลน์

02 มิถุนายน 2564

เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา จี้คร.ดูแล ธุรกิจน้ำเมาหนุนเพจอวตาร จัดคอนเสิร์ตแฝงโฆษณา พร้อมออกแพคเกจใหม่ พกง่าย บังคับซื้อจำนวนมาก แถมเรียกร้องให้เปิดดื่มในร้านได้

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา เปิดเผยว่า เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ได้ทำการเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมายของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประจำเดือนพ.ค. 2564 ใน 28 จังหวัด ที่ได้รัฐอนุญาต พบว่าในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ยังพบร้านอาหาร ร้านเหล้า ผับ บาร์ ทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเรื่องการโฆษณาและการสื่อสารการตลาดถึง 78 แห่ง เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยพบว่ามีการปรับกลยุทธ์ของทุนเหล้าขนาดใหญ่ ที่เน้นการทำการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งผิดกฎหมายมากขึ้นกว่า 50% เพื่อรองรับการขยายการขายผ่านออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว บางรายตั้งเป้าทำยอดขายออนไลน์เพิ่ม10% ภายใน 2 ปี จากยอดขายรวมนับแสนล้านบาท และเรียกร้องให้รัฐบาล ยกเลิกมาตรการการดื่มในร้าน ทั้งๆที่มีหลักฐานมากมายว่า การดื่มน้ำเมาเป็นเหตุสำคัญของการกระจายเชื้อโรค และปัญหาสังคมอื่นๆตามมามากมาย นายคำรณ กล่าวว่า ทั้งนี้ เฉพาะข้อมูลในเดือน พ.ค. พบว่ามีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดหลักๆ อยู่ 3 ประการ

1.การสื่อสารออนไลน์ ผ่าน เพจเฟซบุ๊กที่ใช้นามแฝงในการโฆษณา หรือ พบเพจที่สงสัยว่าอาจจะรับจ้างโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 27 เพจ ที่มียอดติดตามระดับหลักหลายแสนคน และพบว่ามี 14 เพจที่โพสต์ข้อความเข้าข่ายผิดกฎหมายการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 27 ยี่ห้อ รวม 70 โพสต์ ซึ่งบางเพจใช้เทคนิคการยิงโฆษณาแบบปกปิด หรือกำหนดเวลาที่ไม่สามารถสืบหาย้อนหลังได้ หรือมีการลบทิ้งเมื่อสิ้นสุดการโฆษณา เพื่อหลบเลี่ยงการติดตามของเจ้าหน้าที่และหน่วยเฝ้าระวัง เป็นการแสดงถึงความจงใจซ่อนเร้นการสื่อสารชัดเจน 2. ปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้พกพาได้สะดวก เช่น แบบบรรจุใส่กระเป้า ในหมอนรองนั่ง การใส่ถุง การทำกล่องหิ้ว ทำกล่องยาวบรรจุ 24 กระป๋อง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการจงใจให้ผู้บริโภคซื้อครั้งละปริมาณมากๆ ชดเชยรายได้ที่หายไปจากการสั่งปิดสถานบันเทิง และ

3. การจัดคอนเสิร์ตทิพย์ หรือคอนเสิร์ตออนไลน์ มีศิลปินกว่า1,000 คน หมุนเวียนมาแสดงคอนเสิร์ตออนไลน์ แฝงการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อตรึงและสร้างความคุ้นชินและจดจำยี่ห้อสินค้า “ตอนนี้ทางเครือข่ายฯ ได้ส่งผลการเฝ้าระวังให้อธิบดีกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายแล้ว พร้อมติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เราอยากเห็นความเอาจริงเอาจังของกลไกภาครัฐในการดำเนินการกับกลุ่มเพจที่ทำการโฆษณาผิดกฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยให้ทุนน้ำเมาหลุดกับดักกฎหมาย มอมเมาเด็กเยาวชน สังคม ตอกย้ำฉกฉวยจากวิฤตโควิด สร้างยอดขายนับหมื่นล้านบาท ได้เช่นทุกวันนี้ และสนับสนุนให้รัฐบาล ยังคงมาตรการห้ามดื่มในร้านต่อไป จนกว่าสถานการณ์จะดีจริง” นายคำรณ กล่าว