posttoday

ประชาชนงง! เสียงสะท้อนเมื่อศบค.-กทม.ไปคนละทาง!

01 มิถุนายน 2564

ไม่อ่านไลน์กลุ่ม! เสียงสะท้อนจากสังคมในวันที่2หน่วยงานไปกันคนละทาง กทม.เห็นชอบมติผ่อนปรนมาตรการตอนบ่าย ตกค่ำศบค.ประกาศชะลอไปก่อน ทำเอาประชาชนกุมขมับ

หลังจากเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 64 ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีมติให้ผ่อนปรนมาตรการสำหรับสถานประกอบการ 5 ประเภท และได้มีการรายงานให้สาธารณชนได้รับทราบในช่วงบ่าย แต่ต่อมาในช่วงค่ำวันเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้ออกมาประกาศชะลอคำสั่งผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวออกไปก่อน

เรื่องดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากสังคมอย่างกว้างขวาง โดยผู้คนต่างตั้งคำถามว่า เหตุใดทั้งสองหน่วยงานจึงไม่มีการหารือพูดคุยกันก่อนที่จะประกาศมาตรการออกมา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนสับสน นอกจากนี้หลายคนยังมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความล้มเหลวในการสื่อสารระหว่างหน่วยงานรัฐ รวมทั้งการสื่อสารกับสังคม

การสื่อสารในภาวะวิกฤตล้มเหลว

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นไว้อย่างน่าสนใจโดยมีเนื้อหาดังนี้

การสื่อสารในภาวะวิกฤติ (Communication in crisis) เป็นบททดสอบฝีมือชี้ขาด (Crucial test) ของคนทำงานด้านการสื่อสาร

การสื่อสารในภาวะวิกฤติต้อง

หนึ่ง สร้างศรัทธาได้ พูดอะไรออกไป stakeholder คือสื่อและประชาชนต้องเชื่อถือ ปฏิบัติตามทันที

สอง สามารถสยบข่าวลือและความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และทำได้อย่างมีประสิทธิผล

สาม การสื่อสารในภาวะวิกฤติต้องมีเอกภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

วันนี้ กทม จะผ่อนคลาย ศบค เห็นอาการไม่ดี สั่งให้ขมิบสุดแรงเกิด เอ่อ ประชาชนงงครับ คนหนึ่งจะขมิบเกร็ง อีกคนจะผ่อนคลาย เวลาจะมีอะไรกัน ขยิบตากันส่งสัญญาณให้จังหวะกันสักนิดจะดีกว่าไหมครับ จังหวะไม่สอดรับประสานกันเลย เสียดสีฝืดเหลือใจ ระบมกันไปหมดถือว่าเป็นความล้มเหลวของการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ในแง่ที่สาม การสื่อสารในภาวะวิกฤติต้องมีเอกภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การที่การสื่อสารในภาวะวิกฤติ ต้องมีเอกภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

การสื่อสารภายใน (Internal communication) ต้องดีมาก ต้องประสานกันได้เป็นอย่างดี มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง คนที่เป็นแกนกลางของ network ในการสื่อสารต้องมีบารมีเข้มแข็งเพียงพอ ที่ทุกคนที่ทำงานด้วยกันต้องฟัง บารมีอาจจะเกิดจากหลายประการ

ดังนั้นขอสรุปอย่างนี้ฝากไว้

การสื่อสารในภาวะวิกฤติเป็นบททดสอบชี้ขาดฝีมือคนทำงานด้านการสื่อสาร

การสื่อสารในภาวะกฤติจะต้องสร้างศรัทธา สยบข่าวลือ และมีเอกภาพ ไม่แย้งกันเอง การสื่อสารภายในต้องดีมาก และคนที่เป็นแกนกลางในเครือข่ายของการสื่อสารภายในต้องมีบารมี

**************************

รัฐบาลต้องสั่งการเดินไปในแนวทางเดียวกัน

ด้าน นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย แสดงความเห็นกรณีที่เมื่อช่วงเย็นวันที่ 31 พ.ค.64 ศบค.ได้มีประกาศยกเลิกคำสั่งกทม.ที่ให้ผ่อนปรนมาตรการสำหรับสถานประกอบการ 5 ประเภท ที่มีการประกาศออกมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน โดยระบุเนื้อหาดังนี้

ความ "วัว" ไม่ทันหาย

ความ "ควาย" เข้ามาแทรก

ผมไม่รู้จะเข้าใจรัฐบาลอย่างไรดี?

เพราะเชื่อว่าแม้แต่รัฐบาลเอง ก็ยังไม่เข้าใจตัวเองเสียเท่าไหร่

วันนี้เอาอย่าง ยังไม่ทันพรุ่งนี้เปลี่ยนซะแล้ว

อยู่ด้วยกันแท้ๆ บ่าย กทม. ออกคำสั่งผ่อนปรน ให้เปิดกิจการ 5 ประเภท

บรรดาร้านนวด สถานเสริมความงาม เตรียมตัวเปิดร้านกันจ้าละหวั่นด้วยความดีใจ

แต่พอคล้อยค่ำ ศบค. ประกาศยกเลิกคำสั่งของ กทม. ว่า “ช้าก่อนยังไม่ถึงเวลา”

นี่เล่นอะไรกันอยู่ครับ? รัฐบาลไปป่วนสังคมทำไมไม่ทราบ?

ในภาวะวิกฤตอย่างนี้ ควรจัดการให้สังคมอยู่นิ่ง ทุกอย่างให้รัฐบาลสั่งการเดินไปในแนวทางเดียวกัน

ไม่ใช่ภายในวันเดียว ยังออกคำสั่งขัดแย้ง ยกเลิกกันเหมือนเล่น "โป้งแปะ"

ช่วยกรุณาเลิกทำตัวเหมือนเด็ก แล้วทำงานให้ประชาชนรู้สึกมีที่พึ่งสักหน่อยเถอะ

บริหารบ้านเมืองไม่เป็น ก็ทำตัวให้เข้าท่ากว่านี้

การออกคำสั่งใดๆ ไม่ควรทำให้สังคมประชาชนสับสน

ขอแนะนำให้รัฐบาลมีแนวทางอะไรแน่นอนสักเรื่อง

วัคซีนก็โยนกันไปมา นี่มาเรื่องทำมาหากินของชาวบ้านก็ทำเป็นเรื่องเล่น

ไม่มีอะไรให้ทำหรือไงไม่ทราบ? ถึงทำให้ประชาชนเคว้งคว้างกลางทะเล เพิ่งนึกอะไรออกก็กลับไปกลับมาได้ทุกเวลาเช้าสายบ่ายเย็น

ให้มันดีสักเรื่องจะได้ไหม? พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย

หรือไม่ก็ไปที่ชอบที่ชอบทีเถอะ