posttoday

พิษโควิดส่งผลให้กลุ่มแรงงานเลิกบุหรี่เพิ่มขึ้นปัจจัยหลักรายได้ลด

28 พฤษภาคม 2564

ผลสำรวจชี้ชัดการระบาดของโควิด-19 ทำให้กลุ่มแรงงานสูบบุหรี่น้อยลงและบางส่วนมีแรงจูงใจเลิกสูบมากขึ้น ปัจจัยหลักมาจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจรายได้ลดน้อยลง

อ.ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึงผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลว่า  จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,120 คน แสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมการบริโภคยาสูบของกลุ่มแรงงานเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการระบาดของโควิด-19 กับสถานการณ์ปกติ พบอัตราการสูบบุรี่ลดลง ร้อยละ 19.2 และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการระบาดระลอกสองในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กับการระบาดครั้งล่าสุด พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ลดลงร้อยละ 21.52

ทั้งนี้ ขณะที่อัตราการเลิกสูบบุหรี่ของกลุ่มแรงงาน เมื่อหากเปรียบเทียบระหว่างสถานการณ์ปกติกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จำนวนผู้เลิกบุหรี่อยู่ที่ ร้อยละ 2.41 แต่หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุด ก็จะพบอยู่ที่ร้อยละ 2.95 ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงอัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลง หรืออัตราการเลิกสูบบุหรี่ของกลุ่มแรงงานมีเพิ่มมากขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้กลุ่มแรงงานเลิกสูบบุหรี่ มาจากรายได้ที่ลดลง ร้อยละ 49.12  ส่วนเหตุผลในการเลิกบุหรี่จากค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ ร้อยละ 29.57 และต้องการเลิกบุหรี่เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองอยู่ที่ ร้อยละ 16.29 สะท้อนว่าระบาดครั้งล่าสุด ส่งผลให้กลุ่มแรงงานสูบบุหรี่น้อยลง และบางส่วนก็มีแรงจูงใจในการเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงมองว่าหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ ควรนำโอกาสนี้มากระตุ้นเตือนให้สังคมได้เห็นถึงความสำคัญของการเลิกบุหรี่ช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อดูแลสุขภาพ และปากท้องของประชาชนมากขึ้น

พิษโควิดส่งผลให้กลุ่มแรงงานเลิกบุหรี่เพิ่มขึ้นปัจจัยหลักรายได้ลด

อ.ดร.วศิน กล่าวว่า จากผลสำรวจกลุ่มแรงงานที่มีแผนจะเลิกสูบบุหรี่ พบว่า ร้อยละ 57.63 จะใช้วิธีลดจำนวนมวนในการสูบลง ร้อยละ 34.41 ใช้วิธีหักดิบ หยุดสูบทันที และร้อยละ 3.39 จะใช้วิธีรับคำแนะนำสำหรับการเลิกบุหรี่ ซึ่งส่วนตัวมองว่า การใช้วิธีลดจำนวนมวนในการสูบลง ไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จเท่าที่ควร แต่วิธีที่สำเร็จมากที่สุดคือการหักดิบ แม้ว่าร่างกายจะมีการตอบสนองอยากสูบบุหรี่ในช่วง 2-3 วัน แรก แต่หลังจากนั้นจะเริ่มขับสารพิษออกจากร่างกาย ทำให้หยุดสูบได้ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ในกรณีที่ผู้สูบบุหรี่อยู่ในภาวะเสพติด ไม่สามารถเลิกเองได้ ก็สามารถรับคำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายช่องทางที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น คลินิกฟ้าใสในโรงพยาบาล สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 หรือติดต่อมาที่ ศจย. ได้โดยตรง ซึ่งจะมีกรรมวิธีต่าง ๆ ที่ช่วยเลิกบุหรี่ได้ เช่น การส่งต่อไปยังภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องการรับประทานยาช่วยเลิกบุหรี่ เสนอคำแนะนำให้กำลังใจ เพื่อนำไปสู่การเลิกบุหรี่ได้ต่อไป

ขณะเดียวกัน จากผลสำรวจครั้งนี้ ได้วางแนวทางในการพัฒนางานวิจัยให้เกิดกลไกให้กลุ่มแรงงาน มีแรงขับเคลื่อนและเกิดความต้องการเลิกบุหรี่มากขึ้น โดยจะเน้นงานด้านชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือจะหาวิธีให้สถานที่ทำงาน รณรงค์ให้ลูกจ้างเลิกบุหรี่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการเข้ามามีส่วนร่วมและให้ความสำคัญตรงนี้มากขึ้น โดย ศจย. ได้รณรงค์แคมเปญ "เลิกสูบ เลิกจน" ด้วยการส่งข้อมูลไปยังเครือข่ายภาคแรงงานทั่วประเทศ ให้เห็นถึงความสำคัญของการเลิกบุหรี่ พร้อมประชาสัมพันธ์และสนับสนุนให้เข้าถึงการเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันกรมควบคุมโรคเองก็ได้เร่งนำยาเลิกบุหรี่เข้าสู่ระบบประกันสังคมด้วย

อ.ดร.วศิน กล่าวว่า การสูบบุหรี่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในครัวเรือนอย่างแน่นอน เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น หากยังบริโภคยาสูบอยู่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อบุหรี่หรือยาสูบประเภทต่าง ๆ แทนที่จะนำไปซื้ออาหารหรือใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงมีต้นทุนทางสุขภาพในอนาคตที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ศจย. ที่เคยเผยแพร่ข้อมูลว่า ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่ต้องสูญเสียไปอยู่ที่ประมาณ 101,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และคิดเป็นร้อยละ 11.4 ของมูลค่าการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสุขภาพของประเทศ และคิดเป็นเฉลี่ยต่อหัวแล้วภาระค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 9,900 บาท ต่อผู้สูบบุหรี่ 1 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้ของกระทรวงการคลังที่ได้จากภาษียาสูบนั้น จะมีน้อยกว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาก

สำหรับ ผลกระทบด้านสุขภาพ พบว่า ควันบุหรี่มีผลกระทบต่อเกือบทุกระบบอวัยวะของร่างกาย โดยเฉพาะช่วงที่โควิด-19 ระบาดแบบนี้ บุหรี่ที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น หรือผู้ติดเชื้อมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น หายจากอาการป่วยยากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย โดยในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ที่เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ทางองค์การอนามัยโลกได้กำหนดหัวข้อสำคัญ คือ Commit To Quit โดยประเทศไทยมีคำขวัญ คือ "เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้"  ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเช่นนี้ อยากจะเชิญชวนกลุ่มแรงงานให้หันมาเลิกสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพของตนเองและคนที่เรารัก เพราะบุหรี่เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อไปในระยะยาว

ด้าน น.ส.ณัฐสินี สรรค์ประสิทธิ์ นักวิชาการสาธารณสุข โรงพยาบาลสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี กล่าวถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อขับเคลื่อนงานเลิกบุหรี่ ในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ว่า ที่ผ่านมาก็ถือว่ามีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากประชาชนผู้รับบริการเดินทางไม่สะดวก หรือมีความกังวลเกี่ยวกับการระบาด จึงมีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น สำหรับผู้รับบริการเลิกบุหรี่อยู่แล้วก็ได้ให้อาสาสมัครทางสาธารณสุข (อสม.) ลงพื้นที่ตามบ้าน เพื่อแจกจ่ายยาอมสมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่ พร้อม ๆ กับประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน เห็นถึงความสำคัญของการเลิกบุหรี่ โดยหยิบยกนำสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเป็นปัจจัยเสริมให้ประชาชนเห็นว่า การสูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้นแค่ไหน หรือมีความเสี่ยงต่ออาการป่วยหนักมากขึ้นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม การทำงานของเจ้าหน้าที่ ยังได้ตั้งโต๊ะเพื่อรับสมัครประชาชนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ตามจุดตั้งต่าง ๆ ในชุมชน โดยปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเข้ารับบริการ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น โดยจะมีการใช้แบบคัดกรองเพื่อจัดสรรการให้บริการเพื่อเลิกบุหรี่ และมีการให้ความรู้ผ่านสื่อแผ่นพับ การให้ยาอมสมุนไพรเลิกบุหรี่ หรือการนวดกดจุดสะท้อนเท้า พร้อมกันนี้ ยังใช้ความเชื่อทางศาสนาเข้ามาช่วย โดยนำย่ามของหลวงพ่อยอ (ย่ามแดงจูงใจ) ซึ่งเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนในพื้นที่ ให้คนที่มีความตั้งใจเลิกสูบบุหรี่ ได้นำเงินที่จะซื้อบุหรี่ไปเก็บไว้ในย่ามนี้ เพื่อให้เห็นผลของการเปลี่ยนแปลงหลังจากเลิกบุหรี่ได้อย่างชัดเจนว่า มีรายได้มากขึ้นเท่าไหร่ อย่างไร โดยนอกจากจะมีการตั้งโต๊ะตามชุมชนต่าง ๆ แล้ว เจ้าหน้าที่ยังมีรถโมบายเคลื่อนที่เพื่อให้บริการประชาชนตามพื้นที่ต่าง ๆ ด้วย 

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังมีผู้เข้ารับสมัครเพื่อเลิกบุหรี่ทั้งหมด 39 คน ซึ่งเดินทางมาจากหลายชุมชน และมีผู้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จแล้ว 2 คน โดย อสม.จะมีการติดตามข้อมูลเหล่านี้อย่างต่อเนื่องด้วย

น.ส.ณัฐสินี กล่าวว่า อยากฝากสำหรับผู้สูบบุหรี่เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก คือ การสูบบุหรี่ไม่ว่ารูปแบบไหน สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้เหมือนกัน เพราะการสูบบุหรี่เป็นการนำเสมหะ น้ำลาย พ่นออกมาเป็นละอองไอออกมาพร้อมกับควันบุหรี่ ซึ่งโควิด-19 ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเสี่ยงมากสำหรับคนที่สูบบุหรี่ ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้เลิกบุหรี่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แพร่เชื้อ และเพื่อสุขภาพของตนเอง และคนที่เรารักด้วย