posttoday

"ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" เตรียมแถลงนำเข้าวัคซีนทางเลือก"ซิโนฟาร์ม"

27 พฤษภาคม 2564

ราชกิจจาฯ เผย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศเพิ่มอำนาจ สามารถนำเข้า จัดจำหน่ายวัคซีนได้เอง ตามความจำเป็น โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ เตรียมแถลง แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" 28 พ.ค.

เมื่อวันที่ 27 พค. 64 มีรายงานว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมจัดแถลงข่าว แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30 น. – 14.30 น. ณ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถ.แจ้งวัฒนะ ซอย 7

ก่อนหน้านี้ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระบุว่า ด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 นั้น

เพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือ ผู้ยากไร้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เป็นไปอย่างทั่วถึง และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 วรรคสอง ประกอบกับ มาตรา 22 (2) แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 โดยคำแนะนำและคำปรึกษา จากประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตามมาตรา 23/1 แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 จึงออกประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ไว้ ดังนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้ “พระราชบัญญัติ” หมายความว่า พระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 “การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข” ให้หมายความรวมถึง การป้องกัน หรือบำบัดโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมและฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการดำเนินการอื่นใด ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จัดหา ผลิต ขาย หรือนำเข้า หรือขออนุญาตและออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งอื่นที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งที่ดำเนินการในประเทศ และในต่างประเทศ

ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ ให้สำนักงานราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ และมีอำนาจ ในการออกข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุข

ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติ และประกาศฉบับนี้ หน้า 37 เล่ม 138 ตอนพิเศษ 112 ง ราชกิจจานุเบกษา 25 พฤษภาคม 2564

ข้อ 4 ให้เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้แทนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในกิจการ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ และให้มีอำนาจในการตกลงความร่วมมือ กับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อาจมอบหมายหรือมอบอำนาจ ให้หน่วยงานของรัฐอื่นใด หน่วยงานภาคเอกชน บุคคล นิติบุคคล ทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้ได้รับมอบหมาย หรือได้รับมอบอำนาจดำเนินการแทนได้

ข้อ 5 การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ของสำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตามประกาศฉบับนี้ ให้ด าเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ เป็นส าคัญ โดยให้พิจารณาถึงความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นการเฉพาะ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รายงานการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ให้ประธาน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ

ข้อ 6 ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ ที่จำเป็น ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดหามาเพื่อการให้บริการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ถือเป็นทรัพย์สินของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ใช้ประโยชน์ เกี่ยวกับการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีทั้งปวง ทั้งนี้ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติ

ข้อ 7 ให้เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขอรับคำปรึกษาในกิจการทั้งปวงจากประธาน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการดำเนินการให้การบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ เพื่อให้การดำเนินการ เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ข้อ 8 การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ ก่อนวันที่ประกาศนี้ มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ๆ ที่ดำเนินการตามประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/112/T_0037.PDF