posttoday

กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากพื้นที่ภาคอีสานช่วงฤดูฝน

24 พฤษภาคม 2564

อธิบดีกรมชลประทานนั่งหัวโต๊ะประชุมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก พร้อมวางมาตรการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำต่างๆ ทั้ง โขง เลย ชี มูล ตามนโยบายของรัฐบาล 

ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน สามเสน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ และการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับอุทกภัยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังโครงการชลประทานในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานชลประทานที่ 5- 8 โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ดร.วัชระ เสือดี รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 4,500 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 5,700 ล้าน ลบ.ม. กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ว่าในปีนี้ จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5 ถึง 10 ประกอบกับมีพายุที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย กรมชลประทาน จึงได้วางแนวทางบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือไว้ 8 มาตรการ

กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากพื้นที่ภาคอีสานช่วงฤดูฝน

ทั้งนี้ ประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 5 - 8 การตรวจสอบอาคารชลประทาน เช่น อ่างเก็บน้ำ เขื่อน ทดน้ำ ประตูระบายน้ำ ฯลฯ รวมถึงพนังกั้นน้ำ ในลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขาให้พร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ , การกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำเป็นไปตามเกณฑ์ปฎิบัติการอ่างเก็บน้ำคาดการณ์สถานการณ์น้ำเป็นประจำ , ชี้แจงสร้างการรับรู้ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบถึงผลกระทบทั้งด้านเหนือและท้ายน้ำ , ให้ข้อมูลประกอบการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง , เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ประสานความร่วมมือสำนักงานชลประทานพื้นที่และส่วนกลาง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อมต่อการรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดคน กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ เข้าประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน บริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่วางไว้ ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี พร้อมบริหารจัดน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำ อาทิ แก้มลิง หรือบ่อน้ำต่างๆ เพื่อเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ไว้ใช้ในฤดูแล้งถัดไป ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัดทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด