posttoday

สศช.ห่วงปลดล็อคกัญชาทำเยาวชนเสพมากขึ้น

24 พฤษภาคม 2564

สภาพัฒน์ห่วงปลดล็อคกัญชาทำให้เยาวชนเสพมากขึ้นยกตัวอย่างรัฐโคโลราโด ของสหรัฐฯที่ พบเยาวชนก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นถึง 11 เท่า

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า การปลดล็อคกัญชาทำให้บางชิ้นส่วนของกัญชาสามารถใช้ในการผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ และตลาดกัญชาเฉพาะกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทย ที่คาดว่าในปี 2564 จะมีมูลค่า 3,600-7,200 ล้านบาท แม้เป็นโอกาสใหม่แต่ต้องควบคุมในระดับที่เหมาะสม และต้องให้ความสำคัญที่ต้องให้ความรู้กับประชาชนด้วยว่าการใช้มากเกินไปจะมีผลเสียต่อสุขภาพ

รวมทั้งต้องวางแนวทางการป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึง จะเห็นได้จากรัฐโคโลราโด ของสหรัฐอเมริกา ที่ปลดล็อคและอนุญาติให้ใช้อย่างถูกกฏหมาย ได้พบเยาวชนบริโภคกัญชามากขึ้น อัตราการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นถึง 11 เท่า ประเทศไทยจึงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังตั้งแต่ต้นไม่ให้เกิดปัญหาแบบต่างประเทศ ต้องกำหนดอายุของผู้ซื้อและผู้ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนำไปใช้ได้เอง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการใช้ผิดประเภท และอาจได้รับสารที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยได้มีผู้นำเข้า 11 ราย ผู้ผลิตหรือปลูก 82 ราย ผู้จำหน่าย1,372 ราย ผู้ผลิตหรือปรุง 5 ราย และผู้แปรรูปและสกัด 37 ราย ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งการใช้กัญชาในทางการแพทย์และการพาณิชย์ยังขาดการกำหนดสัดส่วนระหว่างกันอย่างชัดเจน รวมถึงการควบคุมปริมาณสารสกัดที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหาร พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสมหากมีการใช้สารสกัดมาใช้ในสินค้าอุปโภคเกินที่กำหนดในผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้จำเป็นต้องมีแนวทางรองรับการดำเนินการด้านต่าง ๆ อีกหลายด้าน อาทิ การควบคุม/กำหนดรูปแบบการผลิตและราคาต้นทุนที่สูง ส่งผลต่อราคาสุดท้ายของผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ยาแพทย์แผนไทยอื่นๆปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย

เลขา สศช. กล่าวด้วยว่า เด็กและเยาวชนกระทำผิดเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พบว่า ในปี 2563 เด็กที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจมีจำนวนทั้งสิ้น 19,470 คดี ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุระหว่าง 15–18 ปี มีจำนวน 16,865 คดี โดยอายุของผู้กระทำผิดสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 17 ปี จำนวน 6,527 คดี ส่วนใหญ่เป็นฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ 9,600 คดี คิดเป็น 49.3% ของคดีทั้งหมด โดยจากสถิติจำนวนเด็กและเยาวชนที่ได้รับการปล่อยตัวจากศูนย์ฝึกและอบรมในช่วงปี 2560–2562 พบว่า อัตราการกระทำผิดซ้ำยังคงอยู่ในระดับที่สูง