posttoday

สั่งชะลอส่งแรงงานไปฉนวนกาซาเลี่ยงเกิดความสูญเสีย

23 พฤษภาคม 2564

กระทรวงแรงานสั่งให้ชะลอการจส่งแรงงานไปฉนวนกาซาแล้วหลังเกิดความรุนแรงจนมีคนไทยเสียชีวิต 2 รายบาดเจ็บอีก 8 รายเผยตัวเลขแรงงานไทยที่อยู่ในพื้นที่มีราว 4,000 คนไปทำเกษตรกรรม 

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาการอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานได้ขอให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ติดตามสถานการณ์และดูแลคนไทยให้ได้รับความปลอดภัย จากการสู้รบที่ฉนวนกาซาทำให้มีคนไทยเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 8 ราย และได้มีประกาศแนะนำให้คนไทยในอิสราเอลเพิ่มความระมัดระวัง ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด โดยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังได้ประสานกับแรงงานไทยในพื้นที่ต่าง ๆรวมถึงประสานกับนายจ้างให้อำนวยความสะดวกกับลูกจ้างในการย้ายไปทำงานในสถานที่ที่ปลอดภัย 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีคำสั่งให้ชะลอการจัดส่งแรงงานไปในพื้นที่ฉนวนกาซาแล้ว โดยปัจจุบันมีแรงงานไทยที่อยู่ในพื้นที่นี้ราว 4,000 คนไปทำเกษตรกรรม และเท่าที่สอบถามยังไม่มีใครแจ้งขอย้ายสถานที่ทำงาน ล่าสุดที่มีการจัดส่งแรงงานไปอิสราเอลเมื่อวันที่ 19 พ.ค.มีกว่า 200 คนมี 7 คนจะถูกส่งไปทำงานในพื้นที่ฉนวนกาซา จึงได้ประสานขอให้มีการเปลี่ยนย้ายสถานที่ทำงานไปอยู่ในพื้นที่อื่นแล้ว ซึ่งจะต้องมีการแจ้งต่อศูนย์นานาชาติการย้ายถิ่นและบูรณาการ CIMI The Center for International Migration and Integration (CIMI)และสำนักงานประชากรและตรวจคนเข้าเมืองอิสราเอลด้วย

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ทางกรุงเทลอาวิฟได้จัดทำแผนปฏิบัติการและเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลโดยแบ่งเป็น 5 ระดับคือระดับที่ 1 สีขาว สถานการณ์ปกติ การเตรียมพร้อมในช่วงเหตุการณ์ปกติ ระดับที่ 2 สีเขียว การเตรียมความพร้อมเมื่อเริ่มมีสิ่งบอกเหตุที่ไม่ปกติและอาจก่อให้เกิดความไม่สงบ โดยความรุนแรงกระทบพื้นที่จำกัด ระดับที่ 3 สีเหลือง กรณีความไม่สงบ แต่ยังไม่ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้พำนักในอิสราเอล ขนาดกลางความรุนแรงเล็กน้อย กระทำพื้นที่จำกัด ระดับที่ 4 สีส้ม กรณีเกิดเหตการณ์ไม่สงบและส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้พำนักในประเทศอิสราเอล ขนาดกลาง/ความรุนแรงมาก/ขยายตัวกระทบพื้นที่ในวงกว้างขึ้น และ ระดับที่5 สีแดง กรณีเกิดความไม่สงบ/ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและขยายวงทั่วไป ทำให้เกิดสภาพขาดแคลนอาหารและสาธารณูปโภคถึงขั้นต้องอพยพคนไทย โดยมีขนาดใหญ่ความรุนแรงมากสุด/มีความร้ายแรงและกระทบพื้นที่ในวงกว้าง

รักษาการอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานไทยที่ไปทำงานในอิสราเอล ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกับแรงงานท้องถิ่น และหากแรงงานข้ามชาติ เสียชีวิต บาดเจ็บจากสถานการณ์สงคราม ทางการอิสราเอลจะรับผิดชอบดูแล จะได้รับค่าตอบแทนจากสำนักงานประกันสังคมแห่งชาติของอิสราเอล (National Insurance Institute) ซึ่งถือเป็นอัตราเงินทดแทนที่มากเพียงพอสำหรับคนๆ หนึ่งเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญและคุณค่าของแรงงานที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งหากเสียชีวิตภรรยาและบุตร จะต้องขาดเสาหลักและขาดรายได้ในการดำรงชีพ

นอกจากนี้ การที่แรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศนั้นแรงงานจะเป็นสมาชิกกองทุนช่วยเหลือแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เมื่อแรงงานประสบภาวะความยากลำบาก จะได้รับความช่วยเหลือกรณีได้รับบาดเจ็บประสบอันตรายในต่างประเทศ จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท กรณีสมาชิกเสียชีวิตในต่างประเทศจะได้เงินช่วยเหลือจำนวน 80,000 บาท แบ่งออกเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 40,000 บาท ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดการศพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท

นายไพโรจน์ กล่าวว่าการที่คนไทยไปทำงานเกษตกรรมในอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร จึงเป็นประโยชน์ หากแรงงานนำมาปรับใช้ในการทำเกษตรในบ้านเราให้มีผลผลิตเพิ่ม สร้างรายได้ และเผยแพร่ แนะนำเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรอื่นๆ