posttoday

สธ.ให้ทุกรพ.ฉีดวัคซีนโควิดกลุ่มเป้าหมายต่อ ชี้อาการข้างเคียงเป็นแค่ชั่วคราว

22 เมษายน 2564

สธ.ให้ทุกโรงพยาบาลฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กลุ่มเป้าหมายและบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป หลังผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอาการไม่พึงประสงค์พบเป็นอาการชั่วคราว ย้ำผลประโยชน์มีมากกว่าไม่ฉีด

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 64 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำวันว่า จากกรณีรายงานผู้ที่มีอาการแพ้คล้ายหลอดเลือดสมอง คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลเรื่องของอาการไม่พึงประสงค์ ได้ตรวจสอบพบว่าอาการกลับมาเป็นปกติในระยะเวลาอันรวดเร็ว ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ MRI ไม่มีรอยโรค และผลการตรวจสอบวัคซีนล็อตนั้นทางห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าไม่มีความผิดปกติ ระบบการส่งต่อภายใต้ลูกโซ่ความเย็นของวัคซีนก็ไม่มีปัญหา และวัคซีนที่เหลือฉีดไปแล้วไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ รวมทั้งผลประโยชน์ในการฉีดวัคซีนมีมากกว่าไม่ฉีด แนะนำให้ฉีดวัคซีนต่อไป โดยให้ระมัดระวัง เคร่งครัดมาตรฐานการฉีด และให้ความรู้ สื่อสารกับผู้ที่รับวัคซีน อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มี 3 คำที่อาจเกิดความสับสน คำแรกคือ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน (Adverse Events Following Immunization : AEFI) เป็นระบบเฝ้าระวังที่ใช้ติดตามหลังการฉีดวัคซีนทุกชนิด โดยเฉพาะวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนใหม่มาก ต้องมีระบบการจัดการที่เข้มงวด เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรง จะเข้าคณะกรรมการพิจารณาทุกครั้ง มีคณะผู้เชี่ยวชาญด้านที่เกี่ยวข้องกับอาการที่เกิดขึ้นร่วมพิจารณา และวินิจฉัยว่าอาการนั้น 1. ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ฉีดต่อไป 2.น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน และ3. เกี่ยวข้องกับวัคซีน

"คณะกรรมการจะมีคำวินิจฉัยให้ฉีดต่อไปหากจำนวนที่เกิดขึ้นเทียบกับวัคซีนที่ฉีดแล้ว ไม่ได้ผิดปกติจากมาตรฐาน ไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงมากขึ้นกว่าเดิม และประโยชน์ของการฉีดวัคซีนมีมากกว่าการหยุดฉีด หากเหตุการณ์นั้นรุนแรงมากกว่ามาตรฐาน และเป็นอันตรายต่อผู้ที่รับวัคซีน กล่าวคือ มีโทษมากกว่าประโยชน์ ก็จะให้หยุดฉีดวัคซีนนั้นถาวร กรณีที่ยังไม่แน่ใจ ยังมีข้อสงสัยจะให้หยุดฉีดชั่วคราว เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อน"นายแพทย์โอภาสกล่าว

นายแพทย์โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนข้อสงสัยว่าวัคซีน 2 ล้านโดสหายไปไหน 1.4 ล้านโดสนั้น วัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดส ฉีดได้ 1 ล้านคน (ฉีดคนละ 2 เข็ม) ได้รับครั้งแรกปลายเดือนกุมภาพันธ์จำนวน 2 แสนโดส เริ่มฉีดเดือนมีนาคม 1 แสนโดส และเก็บไว้ฉีดเข็มที่ 2 อีก 1 แสนโดสในอีก 4 สัปดาห์หน้า, ปลายเดือนมีนาคมได้รับอีก 8 แสนโดส เริ่มฉีดเดือนเมษายน ผ่านไป 10 วันฉีดได้ 5 แสนโดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 4 แสนโดส และเข็ม 2 อีก 1 แสนโดส และกลางเดือนเมษายนได้รับวัคซีนล็อตล่าสุด 1 ล้านโดส ฉีดไปแล้ว 3 วัน รวม 2.5 แสนโดส รวมฉีดทั้งหมด 8.5 แสนโดส เป็นไปตามแผน ส่วนที่เหลืออยู่ที่โรงพยาบาลสำหรับฉีดทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 รวมทั้งสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน

สำหรับแผนการจัดสรรวัคซีนอีก 35 ล้านโดสนั้น เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย มีทั้งภาครัฐ เอกชน สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมร่วมประชุมได้ข้อสรุปว่า เราต้องการฉีดให้ครอบคลุมทุกคนในประเทศเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะฉีด 70 ล้านโดส จะเพิ่มให้ได้ 100 ล้านโดส

ขณะนี้เรามีวัคซีน 65 ล้านโดส จะต้องจัดหาอีก 35 ล้านโดส มี 3 แนวทางคือ 1.ให้ภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม ไปจัดซื้อเพิ่มเติม ขณะนี้เจรจาแล้วหลายบริษัท 2.ภาคเอกชน โดยสภาหอการค้า ยินดีบริจาคเงินให้รัฐบาลซื้อวัคซีน ฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย เช่น แรงงานในโรงงาน 10 ล้านโดส และ 3.โรงพยาบาลเอกชนขอจัดซื้อเอง เพื่อฉีดให้ผู้รับบริการของโรงพยาบาลเอกชน เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน คือ 1.มีระบบดูแลความปลอดภัยตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด 8 ขั้นตอน 2.ระบบรายงานเชื่อมต่อกัน และ3.มีการติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน