posttoday

ศบค.ลุยฉีดวัคซีนต่อ ยันผลข้างเคียงน้อย แจงรพ.สนาม เชื้อไม่กลายพันธุ์ อยู่รวมกันได้ ต้องใส่หน้ากาก

22 เมษายน 2564

โฆษก ศบค. รับ 6 รายคล้ายอัมพฤกษ์ ผลข้างเคียงฉีดวัคซีน ยัน ลุยฉีดวัคซีนต่อ ผลข้างเคียงน้อย แต่ไม่บังคับให้ตัดสินใจเอง แจงรพ.สนาม เชื้อไม่กลายพันธุ์ อยู่รวมกันได้ ต้องใส่หน้ากาก

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ถึงกรณีมีข่าวว่าการฉีดวัคซีน โควิด-19 ทำให้มีอาการอัมพฤกษ์ ว่า เรื่องของวัคซีนที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานได้พูดคุยเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นใหญ่ ว่าจากข้อมูลคณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีน ซึ่งมีกลุ่มของวิชาชีพทางด้านโรคติดเชื้อโรงเรียนแพทย์ได้ให้ความเห็นอย่างกว้างขวางว่า 6 รายที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนล็อตสองที่มีการนำเข้าแต่อย่างใด เนื่องจากประโยชน์ของการฉีดวัคซีนมีมากกว่าฉะนั้นจำนวนที่ฉีดเป็นแสนรายแล้วเกิดขึ้น ไม่ทำให้เป็นเหตุที่จะหยุดที่จะให้วัคซีน เพราะการให้วัคซีนถือเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้จะมีการลงไปดูในรายละเอียดอย่างรอบคอบอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชน ทางที่ประชุมจึงมอบให้กรมควบคุมโรคและนักวิชาการไปดูข้อสรุปต่างๆอย่างละเอียดอีกครั้ง และการฉีดวัคซีนยังคงเดินหน้าต่อ แต่ไม่มีการบังคับแม้จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ให้บุคคลนั้นเป็นผู้ตัดสินใจเอง ยืนยันว่าไม่มีการปิดบังใดใดทั้งสิ้น

เมื่อถามว่าตอนนี้เกิดคลัสเตอร์ใหม่กระจายทั่วอย่างนี้สถานประกอบการกังวลและคนไปใช้บริการก็กังวลว่า จุดที่เราไปจะไม่เป็นแหล่งระบาดของเชื้อโรคก็เป็นคัตเตอร์ใหม่จะมั่นใจได้อย่างไร พน.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการพูดคุยในศบค.ชุดเล็กนอกจากการรักษาเรื่องการป้องกันเป็นเรื่องสำคัญ กรมอนามัยจึงได้มีการติดตั้งแพลตฟอร์ม “Thai Stop Covid Plus” โดยให้สถานประกอบการนำข้อมูลไปประเมินตนเอง ว่า ในการลงทะเบียนลูกค้าเข้าใช้บริการ จำกัดจำนวนลูกค้า ซึ่งตอนนี้ได้รับความร่วมมือ 3 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดคือขอนแก่น นนทบุรี และ ภูเก็ต ส่วนในพื้นที่ควบคุม 3 จังหวัด คือ ยโสธร มุกดาหารและบึงกาฬ เพื่อสร้างความมั่นใจ

เมื่อถามอีกมีความกังวลว่ากลุ่มที่มีการติดเชื้อ โควิด-19 และมีอาการน้อยเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลสนามจะทำให้ได้รับเชื้อเพิ่มขึ้นและทำให้อาการรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ระบบของการที่เอาคนไปอยู่รวมกันไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม คนกลุ่มเดียวกันโรคเดียวกันเข้าไปจะต้องใช้ทรัพยากรหมอ พยาบาลและสถานที่ ฉะนั้นการมาอยู่รวมกันไม่ได้ให้อยู่แบบสบาย แต่เราจะต้องมีการเว้นระยะห่าง ที่สำคัญทุกคนจะต้องใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และปฏิบัติตามบุคลากรทางการแพทย์เป็นมาตรฐานที่สูงกว่าการอยู่ในชุมชน ยืนยันจะไม่มีการกลายพันธุ์ของเชื้อ มีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่จะกลายพันธุ์ ซึ่งการออกแบบระบบนี้ขึ้นมาในต่างประเทศก็มีการสร้างโรงพยาบาลสนาม.