posttoday

5 อดีตพระเถระคดี"เงินทอนวัด" ทำพิธีกลับครองจีวร หลังพ้นคดี

14 เมษายน 2564

อดีตพระเถระคดี"เงินทอนวัด" 5 รูป ทำพิธีกลับครองจีวร ที่วัดสระเกศฯ หลังสู้คดีจนพ้นข้อกล่าวหา ไม่พบทุจริต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่พระอุโบสถวัดสระเกศฯ ได้ประกอบพิธีเจริญชัยมงคลคาถา ในโอกาสพระภิกษุอธิษฐานครองผ้าไตรจีวรรับเข้าหมู่สงฆ์ ประกอบด้วย อดีตพระพรหมสิทธิ อดีตพระราชกิจจาภรณ์ อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์ อดีตพระศรีคุณาภรณ์ และอดีตพระครูสิริวิหารการ โดยมีคณะสงฆ์วัดสระเกศฯ เข้าร่วมพิธี เมื่อวันที่ 13เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหลังเสร็จสิ้นพิธีแล้ว อดีตพระเถระทั้ง 5 รูป ได้กลับมาห่มจีวร และเดินกลับกุฏิสงฆ์ทันที

ทั้งนี้ มีรายงานว่า การดำเนินการดังกล่าวเพราะคณะสงฆ์วัดสระเกศฯ เห็นว่า อดีตพระเถระทั้ง 5 รูป จากคดีเงินทอนวัด ไม่ได้มีความผิดเข้าข่ายอาบัติปาราชิก จนต้องทำให้พ้นจากความเป็นสงฆ์ เนื่องจากในคดีทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในคำพิพากษาของศาล ระบุว่าไม่พบความทุจริต ขณะที่ในคดีฐานฟอกเงิน ทางศาลแพ่งได้พิพากษาแล้วว่าไม่มีความผิด และให้คืนเงินที่อายัดไปทั้งหมด

ดังนั้น เมื่อไม่มีการทุจริต จึงไม่มีความผิดทางวินัยสงฆ์ที่เข้าข่ายอาบัติปาราชิก อีกทั้งในช่วงการสืบคดีของศาลนั้น ได้มีบันทึกยืนยันชัดเจนว่า ต่อสู้คดีขณะครองสมณเพศ รวมถึงในระหว่างอยู่ในเรือนจำ ก็มีบันทึกไว้ว่า ยังไม่ได้สละสมณเพศ จึงไม่มีข้อใดเข้าข่ายที่จะต้องสละสมณเพศ ทางคณะสงฆ์วัดสระเกศฯ จึงเห็นควรให้กลับคืนหมู่คณะสงฆ์วัดสระเกศฯ ต่อไป 

5 อดีตพระเถระคดี"เงินทอนวัด" ทำพิธีกลับครองจีวร หลังพ้นคดี

นอกจากนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภา มจร. และไวยาวัจกรวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ยังได้ลงนามรับรองว่า คณะสงฆ์ที่ถูกกล่าวหา ยังได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและกฎหมายคณะสงฆ์  ทุกประการ โดยเฉพาะหลักการและเหตุผลที่ทำให้ ต้องถอดจีวรออกในขณะที่ยังดำรงสถานภาพความเป็นพระภิกษุ จนเป็นที่ยุติว่า ไม่ได้มีการทุจริตใด โดยได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า

1) เพราะไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างถูกดำเนินคดีและไม่สามารถห่มจีวร  ในขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำได้ตามระเบียบของทางราชทัณฑ์

2 ) ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เกี่ยวข้องในทางคดีดำเนินการตามมาตรา 29 และมาตรา 30 ตามลำดับ โดยในมาตรา 29 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สองส่วน คือ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการใช้อำนาจบังคับ ให้พระภิกษุที่ถูกกล่าวหาและไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างถูกดำเนินคดีสละสมณเพศ แต่สำหรับ ที่วัดสามพระยาและวัดสระเกศเจ้าพนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานอัยการมิได้ใช้อำนาจ ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้

กล่าวคือ มิได้ดำเนินการบังคับให้พระภิกษุที่ถูกกล่าวหาทั้งสองวัด สละสมณเพศ ซึ่งได้มีการเบิกความยืนยันข้อความนี้ระหว่างการสืบพยานในศาล ดังนั้น พระภิกษุ ที่ถูกกล่าวหาทั้งหมดจากกรณีดังกล่าวของทั้งสองวัดจึงยังคงสถานภาพความเป็นพระภิกษุตลอดมา

3) ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดในมาตรา 30 ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่จะต้องควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาในระหว่างถูกดำเนินคดีสามารถใช้ดุลยพินิจให้  ผู้ถูกกล่าวหาสละสมณเพศได้ แต่สำหรับกรณีของวัดสามพระยาและวัดสระเกศ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ใช้ดุลยพินิจแล้วเห็นว่า ไม่สมควรจะใช้อำนาจตามมาตรา 30 กับพระภิกษุต่อกรณีดังกล่าวนี้    อีกทั้งยังได้แสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเครื่องยืนยันการใช้ดุลยพินิจกับพระภิกษุทุกรูปไว้เป็นหลักฐานอีกทางหนึ่งด้วย

4) ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันในหมู่ฆราวาสว่า “การสละสมณเพศ” และ  “การสึก” ซึ่งปรากฏถ้อยคำสองคำนี้อยู่ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ทำให้เกิดความสับสนตีความหมายไป คนละทิศคนละทาง จึงขออธิบายความให้เข้าใจตรงกันว่า

5 อดีตพระเถระคดี"เงินทอนวัด" ทำพิธีกลับครองจีวร หลังพ้นคดี

สมณเพศ หมายถึง ผ้าไตรจีวรเครื่องนุ่งห่มที่แสดงออกถึงความเป็นพระภิกษุ เพราะฉะนั้น การบังคับให้สละสมณเพศ จึงหมายถึง การถูกบังคับให้สละผ้าไตรจีวรเครื่องนุ่งห่มออกจากร่างกายของพระภิกษุรูปนั้น ๆ แต่ความเป็นพระภิกษุยังคงอยู่เหมือนเดิม เพราะมิได้มีการเปล่งวาจาลาสิกขาด้วยความสมัครใจ  

ส่วนการสึก คือ การลาสิกขา หมายถึง การที่พระภิกษุรูปนั้น ๆ อธิษฐานใจและเปล่งวาจาลาสิกขาด้วยความสมัครใจ จึงสละเครื่องแต่งกาย คือ ผ้าไตรจีวรออก ทั้งในการสึก ตามพระวินัย และการถูกบังคับให้สึกตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ ดังจะเห็นได้จากกรณี การสืบพยานของพระภิกษุที่ถูกกล่าวหาจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

องค์คณะผู้พิพากษา ได้บันทึกเอาไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาเมื่อวันที่ 20 เดือน สิงหาคม พุทธศักราช 2562 ปรากฏความในตอนหนึ่งว่า “ในวันนี้ จำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 และที่ 4 มาศาล โดยอยู่ในสมณเพศ พระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา โดยได้ความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ได้รับอนุญาต ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แถลงต่อศาลว่า หลังจากได้รับการปล่อยตัว ชั่วคราวแล้ว ก็ได้นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ครองสมณเพศตามพระธรรมวินัยเช่นเดิม และปัจจุบันยังคง จำวัดอยู่ที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เช่นเดิม จึงบันทึกไว้” อีกทั้งยังได้รับการยืนยันจากบันทึก    คำเบิกความพยานจำเลยตามบันทึก (21 พ) ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ระบุว่า “จำเลยในคดี   หมายเลขดำที่ อท.205/2561 ยังครองสมณเพศ อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี”  

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า พระภิกษุทุกรูป ที่ถูกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน ยังคงสถานภาพความเป็นพระภิกษุตลอดมา และเมื่อศาลมีคำพิพากษา ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่มีการทุจริตใด ๆ และไม่มีหมายจากศาลสั่งให้จำคุก ก็สามารถที่จะครอง สมณเพศได้อย่างสมบูรณ์แบบทุกประการ