posttoday

คุมเข้มดื่มแอลกอฮอล์ช่วงสงกรานต์3ระยะ "เน้นขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ"

31 มีนาคม 2564

คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เห็นชอบแนวทางควบคุมน้ำเมาช่วงสงกรานต์ 3 ระยะ พร้อมไฟเขียวจัดหายา Naltrexone และ Acamprosate เพิ่มประสิทธิภาพบำบัดรักษาผู้ติดสุรา

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 64 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 มีมติเห็นชอบแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 ใน 3 ช่วง คือ

1.ช่วงก่อนเทศกาลวันที่ 15 มีนาคม - 9 เมษายน 2564 เน้นรณรงค์ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ การไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี วิเคราะห์ความเสี่ยงการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และจุดเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

2.ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2564 เน้นบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การตั้งด่านชุมชนให้ อสม.ดูแลคนในครอบครัวและชุมชนไม่ให้ผู้ดื่มขับรถออกสู่ถนน, การส่งต่อผู้ถูกคุมประพฤติความผิดฐานเมาแล้วขับเข้ารับการบำบัด และการตรวจวัดเลือดแอลกอฮอล์ผู้บาดเจ็บทางถนนอายุต่ำกว่า 20 ปีทุกราย หากปริมาณเกินมาตรฐานให้สอบสวนเอาผิดสถานที่หรือบุคคลที่จำหน่ายหรือให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กและเยาวชน

3.ช่วงหลังเทศกาลวันที่ 17-23 เมษายน 2564 ให้สรุปข้อมูลเพื่อปรับปรุงมาตรการในปีต่อไป

นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับมติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ให้บูรณาการการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กำหนดเวลาห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบางวัน บางเวลา บางพื้นที่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หรือจัดทำข้อตกลงความร่วมมือการจัดงานบุญ ประเพณีปลอดเหล้า ปลอดภัย ปลอดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของพื้นที่นั้นๆ

นายสาธิตกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการใช้ยานาลเทรกโซน (Naltrexone) และยาอะแคมโพรเสต (Acamprosate) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา เนื่องจากในต่างประเทศมีการบรรจุยาทั้ง 2 ตัวในบัญชียาหลัก และพบว่าลดการเสพซ้ำได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาไม่เกิน 3,000 บาทต่อราย

นอกจากนี้ พบว่ามีแหล่งผลิตที่ประเทศอินเดีย และมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย จึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เร่งรัดการนำเข้าและขึ้นทะเบียนยา และจัดทำโครงการนำร่องการใช้ยาดังกล่าวในสถานบริการสาธารณสุขเพื่อใช้แทนยาเดิม