posttoday

สธ.-กรมอุทยานฯโต้ข่าว ยันจตุจักรไม่ใช่ต้นตอแพร่โควิด

25 กุมภาพันธ์ 2564

กรมควบคุมโรค ประสานเสียง กรมอุทยานฯ ยืนยันตลาดค้าสัตว์จตุจักร ไม่ใช่ต้นตอแพร่โควิด-19 ไปสู่เมืองอู่ฮั่น

นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงกรณีที่มีสำนักข่าวต่างประเทศนำเสนอข่าวว่าตลาดค้าสัตว์จตุจักร อาจเป็นสถานที่นำเชื้อโควิด-19 ไปสู่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการตั้งสมมุติฐานทางวิชาการ เพื่อหาต้นตอของเชื้อที่อาจจะเชื่อมโยงกันเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการหรืองานวิจัยใดๆ ที่จะชี้ว่าตลาดนัดจตุจักร เป็นแหล่งต้นเหตุของเชื้อ เนื่องจากที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และยังไม่พบว่ามีการแพร่ระบาดในไทยเกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

ส่วนกรณีที่นักวิจัยเก็บตัวอย่างตรวจสอบค้างคาวมงกุฎในไทย เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 นั้นเป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่ หรืออุบัติซ้ำเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการวิจัยที่พบว่า ค้างคาวมงกุฎมีรหัสพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับเชื้อโควิด-19 ถึงร้อยละ 91.5 แต่ไม่ติดต่อระหว่างค้างคาวสู่คน

ด้าน นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์และพันธุ์ป่าตามอนุสัญญากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชี้แจงว่า ดำเนินการสำรวจสัตว์ที่ค้าในตลาดจตุจักร และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่ม เช่น สัตว์กลุ่มกระรอก กลุ่มแมว กลุ่มสุนัข กลุ่มหนู กระต่าย และสัตว์ต่างประเทศ เช่น ลิงมาโมเสท เม่นแคระ เมียร์แคท ชูการ์ไกลเดอร์ เป็นต้น เมื่อวันที่ 19 มี.ค.63 ปรากฏว่า ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา ในสัตว์ที่มีการค้าขายในตลาดจตุจักร

ดังนั้น ข้อมูลที่กล่าวว่าไทยอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) นั้น จึงไม่เป็นความจริง ทั้งนี้สัตว์ที่มีการค้าในตลาดจตุจักรเป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์และค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสัตว์ต่างประเทศที่นำเข้าอย่างถูกกฎหมาย โดยมีชุดปฏิบัติการ 1362 ของกรมอุทยานฯ เข้าตรวจตรา ป้องกันการกระทำผิด รวมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องความปลอดภัยและการป้องกันโรคจากสัตว์ป่าสู่คนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประเด็นตามข่าวที่อ้างว่าพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาวเกือกม้า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางตะวันออกของประเทศไทยนั้น ขอชี้แจงว่า ในเดือนมิ.ย.2563 คณะนักวิจัยของไทย ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มค้างคาวมงกุฎ (หรือค้างคาวเกือกม้าที่กล่าวถึงในข่าว) ในหลายพื้นที่ และถ้ำหลายแห่งที่เป็นแหล่งเกาะนอนของค้างคาวมงกุฎยอดสั้นใหญ่ ดำเนินการเก็บตัวอย่างมูลค้างคาวและเลือด เพื่อทำการตรวจหาไวรัสโคโรน่า 2019 โดยความร่วมมือทางวิชาการกับโปรแกรมการศึกษาและวิจัยโรคอุบัติใหม่ มหาวิทยาลัย Duke-NUS พบว่าไวรัสที่ตรวจพบในค้างคาวมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไวรัสโคโรนา 2019 ประมาณ 91% ไม่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้

นอกจากนั้น กรมอุทยานฯ ยังได้ดำเนินการเชิงรุกโดยมีการสำรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในค้างคาว และลิ่น ในธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นที่อาจเป็นตัวกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคอุบัติใหม่หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้งดการล่า ค้า รวมทั้งบริโภคสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน