posttoday

เปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้นักสูบตระหนักติดโควิดเสี่ยงตายสูง

22 กุมภาพันธ์ 2564

สสส.จับมือภาคีเครือข่ายจัดเสวนา“บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า กับสถานการณ์ Covid-19” พบการสูบบุหรี่ยิ่งทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อมีโอกาสเสี่ยงทรุดจนเสียชีวิตได้มากกว่าเดิม 14 เท่า

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. โครงการสนับสนุนและสื่อสารการขับเคลื่อนงานของภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 : ยิ่งสูบ ยิ่งเสี่ยง” เพื่อให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการควบคุมยาสูบ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมชี้ให้ผู้สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ตระหนักถึงความเสี่ยงจะที่เกิดความรุนแรงของโรคมากขึ้น เมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส

รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เชื้อโควิด-19 ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ และแพร่จากคนสู่คนได้ผ่านทางละอองฝอยหรือน้ำลาย โดยตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดเมื่อปีที่แล้วก็ส่งผลอย่างมากต่อการใช้ชีวิตของประชาชนโดยรวม ขณะที่บุหรี่ก็ทำให้เกิดอาหารโรคไม่ติดต่อแบบเรื้อรังหรือ NCDs และยังทำให้คนที่อยู่ใกล้เคียงได้รับควันบุหรี่มือสองอีกด้วย ส่งผลให้ร่างกายของผู้ได้รับควันบุหรี่อ่อนแอลง ซึ่งปัจจัยทั้งสองส่วนนี้เมื่อมารวมกันแล้ว ก็ทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นได้ง่าย ยกตัวอย่างกรณีในจ.ฉะเชิงเทราที่พบพฤติกรรมเสี่ยงในการสูบบุหรี่มวนเดียวกันกว่า 20 คน ซึ่งการสูบบุหรี่มวนเดียวกันนี้ นอกจากทำให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายผ่านน้ำลายที่ติดบนพื้นผิววัสดุแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคติดต่อแบบอื่น ๆ ที่ผ่านทางน้ำลายได้อีก เช่น คอตีบ เริม ไอกรน คางทูม หัดเยอรมัน และไวรัสตับอักเสบชนิดเอและบี

เปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้นักสูบตระหนักติดโควิดเสี่ยงตายสูง

ทั้งนี้ งานวิจัยของวารสารทางการแพทย์ในประเทศจีน พบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลงจนเสียชีวิต เป็นผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า และจากการวิจัยในยุโรปก็พบว่าปอดของผู้สูบบุหรี่มีโอกาสรับเชื้อมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้นการสูบบุหรี่จึงเป็นความเสี่ยงสูงสุดที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดปอดอักเสบรุนแรงและการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย

ด้าน นายจิระวัฒน์ อยู่สะบาย รองผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การสูบบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย และการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความเชื่อมโยงกัน เพราะขณะสูบบุหรี่ อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดผ่านน้ำลายหรือละอองฝอย ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่จะไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยอยู่แล้ว ทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นได้ทั้งผู้รับเชื้อและแพร่เชื้อได้ในเวลาเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมในสถานที่ต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดพฤติกรรม "2 เพิ่ม 2 ฝ่าฝืน" คือ การเพิ่มจำนวนของกิจกรรมในตลาดและสถานีขนส่งรถโดยสาร มีการเดินทางเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พบผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในสถานที่เหล่านี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเอาจริงเอาจังและบังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติจึงมีมติให้ทุกจังหวัดบังคับใช้กฎหมายในเชิงรุก ตามพระราชบัญญัติการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ แต่ยังมีบางส่วนที่ยังมองว่าการสูบบุหรี่ยังเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือไม่มีผลกระทบกับคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้นต่อไป

สำหรับ การใช้กฎหมายเชิงรุกในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เปรียบเสมือนการทดสอบกลไกการบังคับใช้กฎหมายเชิงรุกในทุกพื้นที่และทุกจังหวัด ผ่านคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระดับจังหวัดร่วมมือกับหน่วยงานส่วนกลาง ลงพื้นที่ตรวจสอบกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะที่มีการร้องเรียนเข้ามา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมสำหรับประชาชนมากขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งในตลาดและสถานีขนส่งซึ่งถือเป็นพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย มีการประกาศเสียงตามสายให้รับทราบว่าพื้นที่นี้ปลอดบุหรี่ หรือมีการแสดงสัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่อย่างชัดเจน เกิดจิตสำนึกร่วมกันในการป้องกันการสูบบุหรี่ในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น พร้อมยืนยันว่า การบังคับใช้กฎหมายการนั้นเป็นไปเพื่อให้ทุกคนได้ปรับพฤติกรรมในการเลิกสูบบุหรี่ ให้มีสุขภาพที่ดีต่อไปในอนาคต แม้ว่าจะมีความเข้มงวด แต่ก็เป็นไปเพื่อคนสูบบุหรี่เอง และสิ่งที่สำคัญที่สุดของการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังคือทุกฝ่ายให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ขณะที่ ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศจย. และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศจย.มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ทั้งรูปแบบของบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ชี้ให้เห็นว่า ทำไมพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จึงมีความสำคัญกับการควบคุมดูแลและเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในการสื่อสารไปยังสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง โดยการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะแรก ได้จุดประกายความคิดว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้โจมตีที่ปอด ทำให้มีการเฝ้าระวังพร้อมตรวจสอบหางานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาเป็นข้อมูล จากจุดเริ่มต้นที่วารสารทางการแพทย์ของจีนที่ระบุถึงผู้สูบบุหรี่จะมีโอกาสเสี่ยงที่มีความรุนแรงของโรคมากกว่าเดิม 14 เท่า จนองค์การอนามัยโลกนำข้อมูลนี้ไปเปรียบเทียบเพื่อใช้อ้างอิงเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ด้วย

ขณะที่ งานวิจัยในพื้นที่ภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น งานวิจัยในภาคเหนือ พื้นที่อำเภอโกสัมพี จังหวัดกำแพงเพชร พบว่าประชาชนและผู้นำชุมชนให้ความสำคัญกับเรื่องการสูบบุหรี่กับโควิด-19 มากกว่าร้อยละ 50 สะท้อนถึงการรับรู้ของประชาชน ส่วนในภาคใต้ก็พบว่า ร้อยละ 74.24 ประชาชนรับรู้ว่าการสูบบุหรี่มีผลต่อความเสี่ยงกับความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 และทำให้ปอดติดเชื้อง่ายขึ้นร้อยละ 79.88 และโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อได้ผ่านการไอจามร้อยละ 88.59 สะท้อนถึงคนที่เริ่มตระหนักถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่ และมีงานวิจัยที่น่าสนใจอีกข้อก็พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 82.71 อยากชวนคนที่บ้านให้เลิกสูบในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด และให้ความสนใจอยากเลิกบุหรี่ด้วยตนเองกว่าร้อยละ 70.35 งานวิจัยเหล่านี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงการส่งต่อองค์ความรู้ของ ศจย. ที่ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงพิษภัยจากบุหรี่ที่มีต่อร่างกาย และการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้มากยิ่งขึ้น โดยหลังจากนี้จะมีงานวิจัยเชิงปฏิบัติการมากขึ้น ในประเด็นการสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนให้รับทราบถึงพิษภัยจากยาสูบที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไป

นายรวิศุทธ์ คณิตกุลเศรษฐ์ รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย มีการดำเนินงานครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงทั้งทางสังคมและสุขภาพ ซึ่งการสูบบุหรี่ ก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้นจึงพยายามสื่อสารกับเยาวชนเพื่อให้เกิดการปรับพฤติกรรมในลักษณะเหมือนเพื่อนช่วยเพื่อน แม้บริษัทบุหรี่จะปรับกลยุทธ์ด้วยการสื่อสารข้อมูลชวนเชื่อต่อเด็กและเยาวชนมากขึ้น เช่น ไม่ใช้คำว่า "บุหรี่ไฟฟ้า" ในการขาย แต่เปลี่ยนไปใช้คำว่า "เครื่องช่วยเลิกบุหรี่" แทน ซึ่งสถาบันก็ต้องปรับตัวตามและให้ความรู้ที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น โดยได้มีการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์เป็นหลักเพื่อให้เด็กและเยาวชนรับรู้ว่า บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้เป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่อย่างที่เข้าใจกันมา และเน้นเรื่องของข้อเท็จจริงเป็นหลัก โดยเชิญแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสร้างแรงบันดาลใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมปรับข้อความและการสื่อสารให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแต่ละช่วงวัย เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของแต่ละคน โดยการสื่อสารที่สำคัญที่สุดคือให้ทุกคนได้จุดประกายความคิดของตนเอง นำมาสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ จนส่งผลมาสู่พฤติกรรมในการเลิกสูบบุหรี่ได้ต่อไป

นอกจากนี้ สถาบันมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมไปยังเด็กและเยาวชนโดยตรงให้หันมาเลิกบุหรี่มากขึ้น เช่น โครงการในกลุ่มนักเรียนอาชีวะ เพื่อชักชวนให้เพื่อนเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากเพื่อนเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงมากกับนักเรียนวัยนี้ ซึ่งจะเกิดการปรับพฤติกรรมได้หากเพื่อนไม่สูบบุหรี่ และยังมีกิจกรรมชักชวนให้แฟนเลิกสูบบุหรี่ เพียงเปลี่ยนจากการห้าม มาเป็นการให้กำลังใจ เปิดโอกาสให้พูดคุยเรื่องการเลิกสูบบุหรี่ทุกกิจกรรมได้รับผลตอบรับที่ดีเกินกว่าความคาดหมาย โดยพร้อมจะสร้างแกนนำเครือข่ายในการเลิกสูบบุหรี่ต่อไปในอนาคตด้วยการจุดประกายความคิดผ่านโครงการต่าง ๆ แก่เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง

นายรวิศุทธ์ กล่าวว่า อยากฝากไปยังผู้ปกครองเรื่องการป้องกันการสูบบุหรี่ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ควรจะเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจแก่บุตรหลาน แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เพื่อการสร้างความไว้ใจ นำตัวของพ่อแม่เข้าไปอยู่ในจิตใจของเด็ก เปิดรับฟังมากขึ้นและหันมาปรึกษาพูดคุยกับเด็กเยอะ ๆ เป็นผู้รับฟังและเป็นคนให้คำแนะนำแก่เด็ก ไม่ควรไปบังคับหรือตัดสินก่อน จึงจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนมีความคิดที่เป็นไปในเชิงบวกตามไปด้วย