posttoday

ศธ.นโยบายไม่ชัด! ห่วง "โรงเรียนขนาดเล็ก" ปิดตัว

21 กุมภาพันธ์ 2564

"ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน" ห่วง "โรงเรียนขนาดเล็ก" ปิดตัว เหตุนโยบาย ศธ. เรื่องการบริหารจัดการไม่ชัดเจน

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ อันเกี่ยวเนื่องกับการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังไม่ชัดเจน และกลายเป็นปัญหาที่สร้างความลำบากใจให้ผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็กในหลายพื้นที่ ซึ่งได้จำแนกประเด็นที่ต้องหาทางออกเอาไว้ ดังนี้

“หนึ่ง บริบทหรือเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมหรือชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่เป็นอย่างไร และมีเหตุผลให้สมควรควบรวมหรือต้องรักษาโรงเรียนแห่งนั้นเอาไว้หรือไม่ สอง กรณีที่มีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก กระทรวงศึกษาธิการสมควรที่จะต้องดำเนินการอะไรบ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หรือจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากการควบรวมดังกล่าว และสาม กรณีที่ไม่มีการควบรวม และปล่อยโรงเรียนขนาดเล็กให้ดำเนินการเรียนการสอนต่อไป กระทรวงศึกษาธิการจะต้องบริหารจัดการอะไร และอย่างไรบ้าง เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ และดำรงอยู่ได้”

อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีท่านนี้ ยังได้เสนอแนวทางในการยกระดับนโยบายเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการเอาไว้ ทั้งเรื่องของการจำแนกโรงเรียนขนาดเล็กที่สมควรควบรวม รวมไปถึงความมั่นใจของผู้ปกครองต่อการเปลี่ยนโรงเรียนที่เกิดขึ้น นอกจากนั้น ยังให้กระบวนการที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ พร้อมไปกับการคงคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ดังนี้

ประเด็นที่ 1 บริบทหรือเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมหรือชุมชนที่โรงเรียนขนาดเล็กตั้งอยู่ แบ่งเป็น 2 กรณีสำคัญ คือ

ก. โรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชนที่มีความเจริญ การคมนาคมสะดวก และมีโรงเรียน หลายแห่งตั้งอยู่ในชุมชนนั้น หรือในชุมชนข้างเคียง แต่จำนวนนักเรียนในโรงเรียนเหล่านั้นมีน้อย จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ข. กรณีโรงเรียนตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลไม่มีโรงเรียนอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง นักเรียนไม่สามารถเดินทางไปอีกโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลได้ เช่น โรงเรียนที่อยู่ตามเกาะ หรือบนภูเขา หรือในชนบทห่างไกล เป็นต้น ปัญหาพื้นฐานคือการคมนาคมระหว่างโรงเรียนไม่สะดวก มีความเสี่ยงต่ออันตรายจากการเดินทาง จนถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง จึงทำให้นักเรียนไม่สามารถเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนใกล้เคียงได้ สภาพแวดล้อมเช่นนี้ จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องเก็บรักษาโรงเรียนขนาดเล็กนั้นไว้

ประเด็นที่ 2 กรณีที่ต้องมีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก สำหรับประเด็นที่กระทรวงศึกษาธิการให้น้ำหนัก ไปอยู่ที่เรื่องการเดินทาง หรือการเคลื่อนย้ายนักเรียนออกจากโรงเรียนที่ถูกควบรวมไปยังโรงเรียนหลัก จึงเกิดการเสนอมาตรการเคลื่อนย้ายนักเรียนขึ้นมา ตั้งแต่การจัดซื้อรถตู้เพื่อรับส่งนักเรียน ไปจนถึงการให้ค่ารถกับนักเรียนเพื่อขึ้นรถรับจ้างในชุมชนไปโรงเรียนได้เอง แต่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การจัดซื้อรถตู้ต้องมีคนขับและค่าบำรุงรักษา ไปจนถึงค่าน้ำมันรถ ปรากฏว่ามาตรการสนับสนุนดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องจนนักเรียนเรียนจบหลักสูตรของโรงเรียนได้ หรือปัญหาการจัดงบประมาณเป็นค่ารถให้นักเรียนทำได้เพียง 1-2 ปี แล้วหลังจากนั้นงบประมาณส่วนนั้นก็หายไป และค่ารถไปโรงเรียนจึงต้องตกเป็นภาระของพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือต่อนโยบายจ่ายค่าเดินทางให้นักเรียนในกรณีควบรวมโรงเรียนหมดลง (เพราะประสบการณ์พิสูจน์แล้ว ว่าไม่สามารถยืนยันความต่อเนื่องของนโยบายได้)

ประเด็นที่ 3 กรณีที่ไม่มีการควบรวม แล้วโรงเรียนขนาดเล็กต้องจัดการเรียนการสอนต่อไป นั่นแสดงว่ามีความจำเป็นที่จะต้องรักษาโรงเรียนนั้นไว้ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการย่อมทราบดีแล้ว ว่าโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้มีความขาดแคลนมากมาย ที่สำคัญคือ ขาดแคลนงบประมาณ และขาดแคลนครู ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ถ้าการไม่ควบรวมโรงเรียนนี้คือการปล่อยให้โรงเรียนต้องดิ้นรนด้วยการอยู่รอดของตนเอง การอยู่รอดของโรงเรียนดังกล่าวนี้ก็จะไปขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้อำนวยการและครูของโรงเรียน ที่จะขอความร่วมมือกับชุมชน โดยเฉพาะวัด และมูลนิธิ หรือผู้ใจบุญทั้งหลาย ให้ช่วยกันระดมทุนผ่านการบริจาคให้กับกิจกรรมการกุศลที่โรงเรียนจัดขึ้น เช่น การทอดผ้าป่า การขอบริจาค การร่วมลงแรงซ่อมแซมอาคารเรียนหรือห้องน้ำ เป็นต้น

“การปล่อยให้โรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ต้องควบรวม ดำเนินการต่อไปเช่นที่สาธยายมานี้ ปัญหาก็คือ ถ้าปีใดไม่สามารถได้รับเงินช่วยเหลือเพียงพอต่อกิจการของโรงเรียน โรงเรียนก็ต้องรับสภาพจัดการเรียนการสอนตามเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่สามารถพอทำได้แก่นักเรียน เช่น การจ้างครูช่วยสอน การซ่อมแซมห้องน้ำ การจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน เป็นต้น ดังนั้น การปล่อยให้โรงเรียนต้องช่วยเหลือตัวเองเช่นนี้ ท้ายที่สุด โรงเรียนก็ไม่สามารถคงสภาพการเรียนการสอนได้นาน เดี๋ยวก็ต้องปิดโรงเรียนโดยปริยาย

ดังนั้นการไม่ควบรวมโรงเรียน แต่ก็ไม่ช่วยเหลือโรงเรียนให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ จึงเท่ากับเป็นการปิดโรงเรียนไปโดยปริยาย นี่คือความจริงและชะตากรรมของโรงเรียนขนาดเล็กที่กระทรวงศึกษาธิการปฏิเสธไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่กระทรวงควรต้องทำก็คือ การจัดงบประมาณให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถคงสภาพโรงเรียนไว้ได้”