posttoday

คลัสเตอร์จุฬาฯพบติดโควิดรวม 22รายกทม.ยันควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

15 กุมภาพันธ์ 2564

โฆษกกทม.แจงยิบพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากคลัสเตอร์จุฬาฯทั้งสิ้น 22 ราย ผลผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 230 ราย และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 389 ราย สถานการณ์โดยรวมยังควบคุมได้

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรณีพบบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติด เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) กรุงเทพมหานคร หรือ ศบค.กทม. ได้รายงานไปเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 64 ที่ผ่านมา ผลการตรวจขณะนั้นพบติดเชื้อรวม 13 ราย โดยจากการสอบสวนโรคพบว่า มี 1 ราย เป็นบุคคลภายนอก ได้มาเยี่ยมพ่อที่พักในหอพักของจุฬาฯ ทุกเสาร์-อาทิตย์ ส่วนอีก 12 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ของจุฬาฯ ประกอบด้วย พนักงานส่งเอกสาร 2 ราย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 8 ราย และพนักงานทำความสะอาด 2 ราย นอกจากนี้ผลการสอบสวนโรคพบผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 230 ราย และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 389 ราย

ทั้งนี้ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขยายผลโดยร่วมกันตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำเพิ่มเติม ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นรวม 22 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคนใกล้ชิดของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ได้นำผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาเรียบร้อยแล้ว จากกรณีดังกล่าวกทม.ได้ลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกที่บริเวณตลาดสวนหลวง ซึ่งเป็นแหล่งที่บุคลากรของจุฬาฯ นิยมไปซื้ออาหารและของใช้จำเป็น เป็นการตรวจเชิงรุกแล้ง 437 ราย ซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติม

คลัสเตอร์จุฬาฯพบติดโควิดรวม 22รายกทม.ยันควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม  กทม.ได้ SWAB สิ่งแวดล้อม โดยเก็บตัวอย่างบริเวณจุดสัมผัสร่วมต่าง ๆ จำนวน 20 จุด พบเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 จุด คือ บริเวณเครื่องสแกนนิ้วมือและใบหน้าของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จึงได้ประสานจุฬาฯ ทำความสะอาดเครื่องสแกนฯ ดังกล่าว รวมถึงร้านค้า ตึกแถว ฟุตบาท และสวนหลวงสแควร์เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 11 ก พ 64 ที่ผ่านมา ศูนย์บริการสาธารณสุข 5 และสำนักงานเขตปทุมวัน ได้เข้าไปแนะนำมาตรการทำความสะอาดสถานที่เสี่ยง ประกอบด้วย จุดสแกนใบหน้า จุดสแกนลายนิ้วมือทั้ง 3 อาคาร ได้แก่ อาคารบริการ 1 อาคารบริการ 2 และอาคารจามจุรี 5 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกจุดได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยที่อาคารบริการ 1 ได้มีการงดใช้การสแกนใบหน้าเปลี่ยนเป็นการให้หัวหน้างานเช็คชื่อแทน สำหรับอาคารบริการ 2 ให้เปลี่ยนเป็นเซ็นชื่อเข้างานโดยนำปากกาส่วนตัวมาเอง และมีจุดตั้งเจลแอลกอฮอล์ล้างมือสำหรับให้เจ้าหน้าที่ใช้ทำความสะอาดมือก่อนและหลังการเซ็นชื่อ ส่วนอาคารจามจุรี 5 ยังคงใช้การสแกนลายนิ้วมือ แต่ได้มีการประชาสัมพันธ์เน้นย้ำให้ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ล้างมือก่อนและหลังสแกนทุกครั้ง