posttoday

โควิด-19 ส่งผลต่อระบบการศึกษาในสมุทรสาครอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

14 กุมภาพันธ์ 2564

ศึกษาฯสมุทรสาคร เผยโควิดส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาในจังหวัดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กสศ.หวั่นกลุ่มเด็กด้อยโอกาสกำลังเผชิญวิกฤต

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยถึงการประเมินผลกระทบการปิดโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาคร ว่า ขณะนี้กลุ่มเด็กนักเรียนยากจนด้อยโอกาสกำลังเผชิญวิกฤตทางการศึกษา 2 ด้าน คือ 1.การไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในช่วงล็อคดาวน์ เพราะขาดอุปกรณ์จึงส่งผลให้เกิดภาวะความรู้ถดถอย (learning loss) และ 2.มีแนวโน้มที่เด็กและเยาวชนยากจนด้อยโอกาสเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19

ฉะนั้นเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว กสศ.ได้ประสานจังหวัดสมุทรสาคร นำกลไกศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษาหรือ smart refer ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานต่างๆที่อยู่ในคณะกรรมการบริหาร กสศ. อาทิ กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข เข้าไปสนับสนุนการช่วยเหลือเด็กยากจนด้อยโอกาสที่ประสบกับภาวะวิกฤตทางการศึกษา โดยการทำงานจะแบ่งเป็น 2 ระยะคือ 1.ระยะวิกฤต ประคับประคองเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ให้ได้รับการช่วยเหลือตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทันสถานการณ์ และ 2.ระยะฟื้นฟู โดยการจัดทำโปรแกรมการช่วยเหลือดูแลรายคนให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะวิถีปกติทางการศึกษาหรือได้รับการศึกษาตามสภาพปัญหาของแต่ละคนต่อไป ทั้งนี้สามารถแจ้งความช่วยเหลือได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 079 5475 ต่อ 8

ด้าน ดร.รัฐวิทย์ ทองนวรัตน์ ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบถึงระบบการศึกษาในจังหวัดสมุทรสาครอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในเบื้องต้นการปิดเรียนทำให้การนำเทคโนโลยีถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยรวมถือว่าช่วยให้การศึกษาเดินต่อไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการเข้าถึง

ดร.รัฐวิทย์ กล่าวว่า เบื้องต้นได้นำเทคโนโลยีหลากหลายช่องทางมาใช้ ทั้งการถ่ายทอดสดการสอนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งพบว่าประสบปัญหาน้อยในโรงเรียนที่มีศักยภาพ และในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา แต่สำหรับเด็กเล็กและกลุ่มเด็กด้อยโอกาสในที่ห่างไกลไม่มีเครื่องมือสื่อสาร เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต โรงเรียนจึงได้ใช้วิธีทำใบงานแล้วให้ผู้ปกครองเด็กเข้ามารับงานจากโรงเรียนไปทำแล้วกลับมาส่งบ้างให้ครูลงพื้นที่เข้าไปหาเด็ก โดยจัดเป็นกลุ่มย่อยๆในกลุ่มเด็กที่อาศัยอยู่ใกล้กัน นี่คือการแก้ปัญหาคนละครึ่งทาง เพราะบางคนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงครูเข้าไปหาที่บ้านไม่ได้ ก็ต้องหาพื้นที่ส่วนกลางที่ปลอดภัยหมายถึงเราต้องบูรณาการปัญหาด้านการศึกษาและสาธารณสุขเข้าด้วยกันตั้งแต่ในการวางแผนงาน ขณะที่บางโรงเรียนใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการที่โรงเรียนจัดหาเครื่องมือสื่อสารสำหรับเด็กด้อยโอกาสให้เขาได้ใช้เรียนชั่วคราว โดยเป็นนโยบายที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้สำรวจข้อมูลว่าเด็กคนไหนขาดแคลนและสามารถช่วยได้

ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร มองว่า การปิดเรียนที่ยาวนานอาจส่งผลต่อภาวะความรู้ถดถอย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่เสี่ยงซึ่งไม่ได้ขาดแคลนแค่การเข้าถึงการศึกษา แต่ยังรวมไปถึงความปลอดภัยทางสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตรอบด้าน

"เด็กกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือพวกที่ด้อยโอกาส อาศัยในพื้นที่โรงงาน พ่อแม่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง เด็กกลุ่มนี้เราจะให้ทางโรงเรียนต้นสังกัดแจ้งจำนวนและข้อมูลพื้นฐานเข้ามา แล้วจะจัดให้เขาได้รับการเฝ้าระวังพิเศษ โดยมีทีมงาน ศธจ.ลงพื้นที่ไปเยียวยา พร้อมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด , สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัด ที่จะเข้าไปช่วยเก็บข้อมูล ตรวจสอบ และดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต รวมถึงการประสานหน่วยงานอื่นๆ เพื่อหาทางสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษาเฉพาะราย ส่วยในระยะยาว ผลกระทบจากการที่โรงเรียนปิดจะทำให้เด็กกลุ่มนี้อาจต้องออกจากระบบการศึกษา เพราะเขามีปัญหาอื่นๆ ที่รุนแรงกว่า ศธจ.สมุทรสาคร จึงมีหน้าที่เชื่อมโยงหน่วยงานทุกหน่วยที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยกันหาทางแก้ปัญหา เบื้องต้นคือมอบสิ่งของจำเป็น ให้ความรู้ในการดูแลตนเองและครอบครัวตามมาตรการสาธารณสุข หน้ากากอนามัยหรือเจลแอลกอฮอล์ต้องมี 100% และใช้ให้ถูกวิธีเพื่อลดการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด ก่อนจะไปสู่การแก้ปัญหาระยาว คือการหาทางให้กลุ่มเป้าหมายยังอยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป

ด้านนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงสถานการณ์การปิดเรียนของจังหวัดว่า สมุทรสาครยังคงเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด แม้ว่าสถานการณ์การระบาดจะดีขึ้นตามลำดับ แต่ยังคงต้องประเมินรายวัน จึงจำเป็นต้องปิดโรงเรียนมาตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.และให้มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยมอบหมายศึกษานิเทศก์คอยติดตามประเมินว่าการเรียนออนไลน์ได้ผลมากน้อยอย่างไร

อย่างไรก็ตามพบว่ามีเด็กบางกลุ่มที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์เทคโลยี ซึ่งได้แจ้งให้ศึกษาธิการจังหวัด เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา หากพบว่ามีเด็กคนใดต้องการเครื่องมืออุปกรณ์ เน้นเฉพาะรายที่ไม่มี ขาดแคลนจริงๆ เมื่อมีการร้องขอเข้ามา ทางจังหวัดยินดีที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่