posttoday

นักการศึกษาชงรัฐออกนโยบายโรงเรียนชนะเยียวยาผลกระทบโควิด

28 มกราคม 2564

นักการศึกษาเสนอรัฐออกนโยบาย “โรงเรียนชนะ” เยียวยาความเสียหายทางการศึกษาจาก COVID-19งานวิจัยระบุปิดเรียน 4 เดือนเกิดภาวะเรียนรู้ถดถอย

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเสวนาวิชาการ Equity Forum ในหัวข้อ “โรงเรียนต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อโควิด-19 รุกรานการศึกษา” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษา กสศ.ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.ศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าโครงการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร กสศ. ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม (เครือข่าย TSQP) รศ.ดร. ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี (เครือข่าย TSQP)และ ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย ในฐานะที่ปรึกษาชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับคำสั่งที่จะให้เปิดภาคเรียนวันที่ 1 ก.พ.เพราะการระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบใหม่นี้ต่างจากรอบที่แล้ว โรงเรียนไม่ใช่สถานที่แพร่เชื้อตรงกันข้ามยังเป็นคล้ายกับที่กักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) ที่ดึงเด็กออกจากชุมชน พื้นที่ตลาด และมีระบบควบคุมดูแลที่เข้มงวด ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายเยียวยาผลกระทบภาคส่วนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบเพราะถูกสั่งปิดความรู้ถดถอยจะมีมาตการเยียวยาอย่างไร จึงอยากให้มีโครงการอย่าง “โรงเรียนชนะ” เพื่อช่วยเยียวยาโรงเรียนและนักเรียน หากไม่รีบแก้ปัญหาเรื่องการเรียนที่ถดถอยก็จะส่งผลระยะยาว ที่ยากต่อการแก้ไข ดังนั้นจึงอยากให้มาช่วยคิดกันว่าจะช่วยเหลือโรงเรียนขนาดกลาง ขนาดเล็กอย่างไร รวมทั้งการวัดประเมินผลเด็กในช่วงที่จะกลับมาเปิดเรียนอีกครั้งทั้งการประเมินผลเพื่อการพัฒนา (Formative Assessment ) และการประเมินเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ (Summative Assessment)

ดร.นรรธพร กล่าวว่า จากการระบาดรอบที่แล้วได้เข้าไปช่วยดูการจัดการเรียนการสอนในหลายเรื่องสิ่งสำคัญคือการทำให้เกิดการเรียนรู้ในช่วงที่ต้องหยุดอยู่บ้าน ด้วยการจัดทำ Learning Box โดยให้ผู้ปกครองช่วยดู แต่ผู้ปกครองก็ไม่สามารถจัดการสอนเหมือนครูได้จึงต้องปรับกิจกรรมให้ซับซ้อนน้อยลง และเปิดให้หาอุปกรณ์ที่อยู่รอบตัวมาทำกิจกรรมได้ อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ที่บ้านก็ยังมีช่องว่างที่ไม่เหมือนเรียนในห้องเรียน แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำ ซึ่งอีกด้านหนึ่งยังมีเรื่องอาสาสมัครจากชุมชนเข้าไปช่วยดูแล เพราะปิดรอบแรกคนภายนอกจะเข้าพื้นที่ไม่ได้ จึงให้ผู้ปกครอง คนในหมู่บ้าน รุ่นพี่เด็กโตมาช่วยดูแลน้อง ๆ ในหมู่บ้าน

รศ.ดร.ธันยวิช กล่าวว่า จากการประเมินความพร้อมของผู้เรียนพบว่าสภาวะถดถอยทางการเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะที่ผ่านมาเป็นการเรียนรู้แบบพาสซีฟ คล้ายกับท่อดับเพลิงฉีดน้ำที่ฉีดความรู้ไปให้เด็ก เด็กรับได้แค่ไหนก็แค่นั้น และไม่ใช่แค่หยุดเรียนแล้วจะลืมความรู้ แค่ก้าวพ้นประตูก็ลืมแล้ว ดังนั้นการจะวัดความถดถอยในเชิงคอนเทนต์ประเด็นนี้อาจจยังไม่เห็นด้วย แต่อาจต้องกลับไปทบทวนถึงปัญหาต้นเหตุคือการเรียนรู้ที่ไม่ได้เป็นแบบแอคทีฟเลิร์นิ่ง ที่ต้องไปปรับเปลี่ยนที่ต้นเหตุป้องกันการถดถอยของ แต่สิ่งสำคัญที่ควรจะตรวจสอบความพร้อมก่อนคือเรื่องจิตใจจากสภาพความเครียด ความยากลำบาก ความไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ ไปจนถึงเรื่องความสามารถการเรียนรู้ ที่มีทั้งความคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ เปิดรับสิ่งใหม่ ในขณะที่เด็กโตอาจจะต้องมีการวัดคอนเทนต์บ้าง แต่ประโยชน์จากการวัดความถดถอยของผู้เรียนต้องไม่ใช่การตัดสินว่าโควิดทำให้เกิดความถดถอยทางการเรียนรู้ แต่ต้องเป็นการประเมินเพื่อการพัฒนา เพื่อดูว่ายังขาดเรื่องอะไร ต้องเติมเรื่องอะไร

ศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทั้งสองรอบ เป็นเรื่องท้าทายมนุษยชาติ จากสภาพแวดล้อม ?ความเปลี่ยนแปลง ภัยพิบัติ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นเด็กควรที่จะเติบโตเรียนรู้การใช้ชีวิต แบบยืดหยุ่น พร้อมรับสิ่งที่เข้ามาใหม่ๆ อีกทั้ง กระบวนรการเรียนรู้ ควรเน้นไปที่เรื่องทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ และยอมรับความเปลี่ยนแปลง ไม่ควรหยุดนิ่งแต่ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ ขณะที่ภาครัฐมีหน้าที่ต้องตอบสนองให้ทันเวลาเกิดเหตุในพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่เหมือน การใช้คำสั่งเดียวทั้งหมดไม่มีเหตุผลสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้คือการยอมรับความเสี่ยงไม่มีที่ไหนที่บอกได้ว่าไม่มีความเสี่ยง แต่ทุกคนต้องรู้ว่าถ้ามีความเสี่ยงมากต้องทำอย่างไร โรงเรียนในพื้นที่ระดับจังหวัด ควรมีสิทธิตัดสินใจโดยต้องมีขีดความสามารถในการเฝ้าระวังสถานการณ์ของตนเอง