posttoday

ทีมพัฒนาแอพฯหมอชนะถอนตัว! ให้รัฐบาลดูแลเอง

16 มกราคม 2564

แอพพลิเคชั่น "หมอชนะ" ส่อเค้าวุ่น ทีมพัฒนาแอพพลิเคชั่นถอนตัวส่งต่อให้รัฐบาลดูแลเอง ลือถูกผู้ใหญ่ล้วงลูก กดดัน รุมทึ้ง

กรณีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ออกมาประกาศให้ใช้แอพพลิเคชั่น "หมอชนะ"ช่วยแจ้งเตือน ประเมินความเสี่ยง รวมทั้งสรุปไทม์ไลน์การเดินทางของคนไทยในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่ไแอพพลิเคชั่น ไทยชนะ ของรัฐบาลที่มีการใช้มาก่อนหน้านี้

ล่าสุด เฟซบุ๊กเพจทีมงานอาสาหมอชนะ MorChana Volunteer Team และกลุ่ม Code for Public ทีมนักพัฒนาอาสาสมัครภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอพฯหมอชนะ ประกาศส่งมอบสิทธิการดูแลแอพพลิเคชั่นหมอชนะ ทั้งหมดให้กับรัฐบาลเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์

โดยทีมจะพัฒนาจะขอแก้ไขบั๊กที่เกิดขึ้น เช่น การกินแบต หรือ กินดาต้า และอัปเดตแอปฯ เป็นครั้งสุดท้ายในอีก 2 สัปดาห์จากนี้ไป หลังจากนั้นการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนใดๆ จะเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่รับไปดูแลต่อ

การเติบโตและความสำเร็จของ “หมอชนะ” เปลี่ยนผ่านจากแอปอาสาสมัคร เป็นแอปของภาครัฐเต็มตัว ทีมงานอาสาสมัครหมอชนะ...

โพสต์โดย ทีมงานอาสาหมอชนะ MorChana Volunteer Team เมื่อ วันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2021

อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศมอบสิทธิให้รัฐบาลดูแล โลกโซเซีลได้แห่แชร์ประเด็นร้อนนี้ ผู้ใช้ชื่อทวิตเตอร์ชื่อว่า @PhilPrajya ของนายปรัชญา อรเอก ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ช่อง ONE31 ได้ทวีตข้อความระบุว่า

"ทีมงานเอกชนพัฒนาแอพหมอชนะ ออกมาแฉเรื่องถูกผู้ใหญ่ล้วงลูกหนักเลย"

พร้อมได้มีการเปิดเผยข้อความสนทนาที่กล่าวถึงกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Code for Public ซึ่งเป็นกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ ระบุว่า

"วันนี้ทางกลุ่ม Code for Public ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ได้ออกแถลงการณ์ "วางมือ" ยุติบทบาททุกอย่างที่เกี่ยวข้องแอพหมอชนะ ในเวลาอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า สาเหตุของการยุติบทบาทอาสาสมัครกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ เท่าที่ทราบ มาจากสาเหตุ 2 ประการ

ประการแรกได้แก่แรงกดดันของ "ผู้ใหญ่" ระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และผู้อำนวยการหน่วยงานหลายหน่วยที่ช่วยกัน "รุมทึ้ง" อำนาจในการควบคุมและกำหนดอนาคตของ "หมอชนะ" อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จากทีมงานที่สร้างแอพมากับมือ

ประการที่สอง มาจากการ "ใส่เกียร์ว่าง" ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานระดับกรมที่ได้รับหน้าที่ในการปรับเปลี่ยนสถานะการติดเชื้อของคนไข้จาก "เสี่ยงต่ำ" เป็น "ติดเชื้อ" ทำให้เกิดกรณี "คนไข้ติดเชื้อ นอนโรงพยาบาล แต่ยังคงมีสถานะเสี่ยงต่ำ" โดยทราบว่ามาจากคำสั่งของระดับอธิบดีกรม ที่ออกปากว่า "ไม่ใช่กงการอะไรของกรมฯ ที่จะไปแจ้งว่าใครติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ" รู้สึกหดหู่และสิ้นหวังกับความมืดบอดทางความคิดและทัศนคติเห็นแก่ตัวของบุคคลเหล่านี้ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น "ผู้ใหญ่" ของบ้านเมือง ที่แม้ในวิกฤตสาหัสของประเทศชาติ ก็ยังเห็นสวัสดิภาพของประชาชนที่จ่ายภาษีเลี้ยงดูพวกเขาสำคัญเป็นอันดับท้ายสุดเหมือนเดิม"

ขอบคุณข้อมูล ทวีตเตอร์ @PhilPrajya