posttoday

สสส.พร้อมหนุนนักเทคนิคการแพทย์ช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่

05 มกราคม 2564

เผยบทบาทนักเทคนิคการแพทย์ผู้ทำงานปิดทองหลังพระช่วยให้คนเลิกบุหรี่ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายสมชาย จตุรจำเริญชัย นักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เปิดเผยถึงบทบาทของนักเทคนิคการแพทย์ที่ช่วยให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ว่า จากการเข้าร่วมกับภาคีเครือข่ายนักเทคนิคการแพทย์เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ตั้งแต่ปี 2561 และผ่านการอบรมหลักสูตร Tobacco Cessation Provider (TCP) ทำให้สามารถทำงานช่วยเลิกบุหรี่ร่วมกับคลินิกฟ้าใสของโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มจากรับผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อจากคลินิกฟ้าใส และใช้เครื่องมือในการตรวจวัดค่าคาร์บอนมอนนอกไซด์ พร้อม ๆ กับการตรวจหาสารโคตินินในปัสสาวะ ซึ่งเป็นสารที่จะพบหลังจากสูบบุหรี่ไม่เกิน 4 วัน หากใครสูบบุหรี่ก็จะทราบได้ทันที ซึ่งทำควบคู่ไปกับการตรวจสารคาร์บอนมอนนอกไซด์ของเจ้าหน้าที่คลินิกฟ้าใสที่จะตรวจช่วงเดือนที่ 1 เดือนที่ 3 และเดือนที่ 6 ของกระบวนการช่วยเลิก

ทั้งนี้ นอกจากจะทำงานเชิงรับ ในการตรวจหาสารที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างกำลังใจในการให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ มองว่าสิ่งสำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่การบังคับให้เลิก แต่อยู่ที่การสร้างทัศนคติและส่งเสริมให้ผู้ป่วยคนนั้นสามารถเลิกได้เอง โดยนักเทคนิคการแพทย์จะเป็นผู้คอยให้ข้อมูลที่น่ารู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ หรือตัวช่วยสำหรับการเลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกันหากตรวจพบสารโคตินินจากการตรวจร่างกาย และผู้ป่วยต้องการเลิกสูบบุหรี่อยู่แล้ว ตนเองก็พร้อมเสนอความช่วยเหลือเพิ่มเติมในการเข้ารับคำปรึกษากับคลินิกฟ้าใสด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะเลิกได้อย่างสนิท โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ในปีแรกจากการตรวจพบสารโคตินินในปัสสาวะของผู้ป่วยจาก 79 คน พบว่าเลิกได้ 4 คน และในปีที่สองจากผู้ป่วยที่พบสารโคตินินทั้งหมด 89 คน เลิกได้เด็ดขาด 2 คน อยู่ระหว่างการติดตามอีกประมาณ 31 คน ซึ่งก็ต้องเป็นการติดตามในผลระยะยาวต่อไป

สสส.พร้อมหนุนนักเทคนิคการแพทย์ช่วยผู้ป่วยเลิกบุหรี่

"แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการรุกคืบของบริษัทบุหรี่ ที่ต้องการนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเมื่อให้คำแนะนำเลิกบุหรี่แก่ผู้ป่วย ก็ยังคงมีคำถามเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าจากผู้ป่วยเข้ามาอยู่เสมอ ส่วนตัวมองว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีพิษภัยมากกว่า และมีนิโคตินมากกว่า แม้ว่าจะเลิกสูบแบบปกติได้ แต่ก็กลับมาติดแบบไฟฟ้าอีก"นายสมชายกล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการทำงานของนักเทคนิคการแพทย์ เปรียบเสมือนงานปิดทองหลังพระ และภูมิใจในงานของตนเอง ซึ่งการให้คนอื่นเลิกบุหรี่ก็เปรียบเสมือนช่วยชีวิตคน แม้ในช่วงแรกที่เข้ารับการอบรมเพื่อจูงใจให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่อาจจะเหมือนเป็นหน้าที่ ที่ต้องมา แต่เมื่อได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งแล้วจึงเข้าใจว่า เป็นงานที่ทุกคนต้องทำ โดยการให้กำลังใจผู้ป่วย แม้แต่การให้คำปรึกษา เป็นส่วนหนึ่งให้คนหลุดพ้นจากคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี เมื่อเห็นรอยยิ้มของคนที่เลิกบุหรี่ได้ ก็มีความสุข  โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดูแลเครื่องตรวจสอบค่าคาร์บอนมอนนอกไซต์ ก็ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยให้มีเครื่องมือในการตรวจวัดร่างกายของผู้ป่วยได้ โดยมองว่าหากเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการปกติอาจจะไม่ทันการณ์ ดังนั้นการสนับสนุนจาก สสส.จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้

พญ.วราภรณ์ ศวิพรพรรณ หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กล่าวว่า บทบาทการทำงานของคลินิกฟ้าใสเริ่มจากการรับผู้ป่วยมาจากการคัดกรองของพยาบาลประจำจุดต่าง ๆ ทั้งศัลยกรรม หอผู้ป่วยใน อายุรกรรม ฯลฯ เมื่อผู้ป่วยมาถึงคลินิกฟ้าใสแล้ว ก็จะเริ่มประเมินความตั้งใจการเลิกสูบบุหรี่ของผู้ป่วย ถ้ายังไม่มี   ก็จะสร้างแรงจูงใจ ถ้ามีแล้วก็เข้าสู่กระบวนการช่วยเลิกบุหรี่ และติดตามผลในระยะ 1 อาทิตย์ 3 อาทิตย์ 1 เดือน 3 เดือนและ 6 เดือน ซึ่งในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด จะใช้วิธี “เทเลเมดิซีน” ในการติดตามผู้ป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกันโดยตรง โดยทุกเคสที่ตั้งใจจะเข้ารับการเลิกบุหรี่ จะตรวจโคตินินจากปัสสาวะและเป่าคาร์บอนมอนนอกไซต์ โดยนักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งทำให้สามารถเปรียบเทียบช่วงที่สูบบุหรี่และเลิกบุหรี่ได้ว่า หากเลิกแล้วก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ลดลงเท่าไหร่ และจะส่งผลดีอย่างไรต่อร่างกาย เป็นการสร้างแรงจูงใจอีกทางหนึ่งให้เลิกสูบบุหรี่ได้ โดยในปี 2562 มีผู้เข้ารับบริการประมาณ 170 คน มีผู้เลิกสูบบุหรี่ได้ประมาณ 71 คน ซึ่งก็ยังมีบางส่วนที่ตกหล่นอยู่บ้าง แต่ต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายราเมศ ปณิธิรุ่งโรจน์ ผู้เข้ารับคำปรึกษาจากคลินิกฟ้าใส และสามารถเลิกได้เด็ดขาด กล่าวว่า ตนเองสูบบุหรี่มาตั้งแต่เด็ก สมัยชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 สูบบุหรี่วันละประมาณ 1 ซอง แต่สิ่งที่ทำให้เริ่มอยากเลิกสูบคือ ตนเองมีโรคแทรกซ้อนเข้ามาทำให้ป่วย คือ โรคความดันและหัวใจ พอตัดสินใจเลิกแล้ว ก็ขอรับคำปรึกษาจากคลินิกฟ้าใส โดยช่วงแรกมีอาการนอนไม่หลับเป็นสัปดาห์ กระวนกระวาย หายใจไม่สะดวก แต่สุดท้ายใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงเลิกได้ หลังจากนั้นรู้สึกว่าร่างกายดีขึ้น ลูก ๆ ก็ดีใจที่ไม่มีกลิ่นบุหรี่ ชีวิตประจำวันดีขึ้น การเงินก็ดีขึ้น คลินิกฟ้าใสมีส่วนช่วยได้มาก ให้ทางเลือกหลายช่องทาง ให้ยามารับประทาน และเมื่อเลิกบุหรี่ได้ ก็เลิกดื่มสุราตามไปด้วย จึงอยากให้ทุกคนเลิกบุหรี่เหมือนกับตนเอง เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี เพราะบุหรี่ไม่มีอะไรดี มีแต่ทำให้สุขภาพทรุดลงเรื่อยๆ